เกมความสัมพันธ์ ‘สหรัฐ-ซาอุฯ-รัสเซีย’ กับสงครามราคาน้ำมัน

การประกาศสงครามราคาน้ำมันโดยซาอุดิอาราเบียสร้างความโกลาหลให้กับตลาดน้ำมันโลกส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบลดลงถึงจุดต่ำสุดในรอบหลายปี ล่าสุดเมื่อวันองคารที่ผ่านมา (10 มี.ค. 2020) ซาอุดิอารามโก ประกาศเพิ่มกำลังการผลิตในเดือนหน้าสู่ที่ระดับ 12.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นถึง 27% โดยนักวิเคราะห์มองว่าการประกาศสงครามราคาของซาอุ ฯ ซึ่งเป็นผู้นำโดยพฤตินัยของโอเปก เป็นการกดดันรัสเซียที่เพิ่งปฏิเสธข้อเสนอการปรับลดกำลังการผลิต 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน ของตน ซึ่งฝ่ายรัสเซียมองว่าข้อเสนอดังกล่าวจะเป็นการช่วยเหลืออุตสาหกรรมน้ำมันในสหรัฐอเมริกา ดังนั้นสงครามราคาที่เกิดขึ้นจึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเล่นเกมการเมืองระหว่างประเทศของทั้งสาม

ทั้งนี้ รัสเซียกังวลว่าการลดกำลังการผลิตที่ระดับดังกล่าวนอกจากจะช่วยพยุงราคาน้ำมันแล้ว ยังเป็นการเปิดที่ให้ผู้ผลิตน้ำมันจากสหรัฐเข้ามาเติมเต็มช่องว่างส่วนแบ่งตลาดตรงนี้ ซีเอ็นเอ็นรายงานอ้างอิงการเปิดเผยจากโฆษก Rosneft บริษัทน้ำมันแห่งชาติของรัสเซียเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (9 มี.ค. 2020) ซึ่งระบุว่า “การลดกำลังการผลิตจะทำให้เกิดการสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับน้ำมันดิบจากสหรัฐอเมริกา ทั้งๆ ที่บริษัทสหรัฐมีต้นทุนการผลิตที่แพงกว่าการผลิตของรัสเซียและตะวันออกกลาง”

นอกจากนี้การที่รัสเซียปฏิเสธข้อเสนอการลดกำลังการผลิตยังอาจมีประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย โดย Helima Croft หัวหน้านักกลยุทธ์ฝ่ายสินค้าโภคภัณฑ์พลังงานจาก “อาร์บีซี แคปิตัล” กล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (9 มี.ค. 2020) ระบุว่ารัสเซียอาจปฏิเสธแนวทางการช่วยพยุงราคาน้ำมันของซาอุ ฯ เพื่อตอบโต้ ภายหลังสหรัฐสั่งแบนบริษัทลูกของ Rosneft เนื่องจากการช่วยเหลือรัฐบาลมาดูโรแห่งเวเนซุเอลา โดยบริษัทน้ำมันในสหรัฐจะได้รับความเสียหายหนักกว่าประเทศอื่นหากราคาน้ำมันลดต่ำลง

ในแง่ของความเสียหายนั้น ถึงแม้ซาอุดิอาราเบียจะมีต้นทุนการขุดน้ำมันดิบที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับคู่แข่ง โดยอัลจาซีร่ารายงานระบุว่าซาอุดิอารามโกมีต้นทุนการขุดน้ำมันดิบที่ถูกที่สุดในโลก อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจของซาอุดิอาราเบียจำเป็นต้องพึ่งพาน้ำมันมากกว่ารัสเซีย ซีเอ็นเอ็นรายงานอ้างอิง Argus Global Markets ซึ่งชี้ว่าซาอุฯพึ่งพารายได้จากน้ำมันในสัดส่วนถึง 67% ขณะที่รัสเซียมีสัดส่วนดังกล่าวเพียง 37% เท่านั้น นอกจากนี้รัฐบาลซาอุฯ จำเป็นต้องขายน้ำมันดิบที่ราคาถึง 80 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เพื่อมีรายได้เพียงพอสำหรับจัดทำงบประมาณแบบสมดุล ซึ่งมากกว่ารัสเซียที่มีตัวเลขจุดคุ้มทุนดังกล่าวเพียง 42 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เท่านั้น ขณะที่ความเสียหายที่เกิดขึ้นในสหรัฐอาจส่งผลให้บริษัทน้ำมันในประเทศจำนวนมากล้มละลายดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นระหว่างช่วงปี 2014-2016 ซึ่งส่งผลต่อการจ้างงานหลายแสนตำแหน่ง

จึงกล่าวได้ว่าเกมสงครามราคาน้ำมันที่เกิดขึ้นจากความพยายามกดดันระหว่างกันซึ่งสร้างความเสียหายกับทุกฝ่าย โดยผู้ชนะคือผู้ที่อดทนได้นานที่สุด