โควิด 19 + ศึกราคาน้ำมัน เศรษฐกิจโลกหนีไม่พ้น ‘ถดถอย’

REUTERS

ชีพจรเศรษฐกิจโลก โดย นงนุช สิงหเดชะ

วันจันทร์ที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา ยังเป็นวันอาถรรพ์ของตลาดหุ้นโลก เมื่อตลาดหุ้นดิ่งลงอย่างหนัก ทำให้ แบล็กมันเดย์ เกิดขึ้นซ้ำรอยอีกครั้ง เพราะหากดูจากดัชนีหลักของตลาดหุ้นสหรัฐอย่างดาวโจนส์ปรับลงถึง 2013.76 จุด หรือ 7.79% ปิดที่  /23,851 จุด ดัชนี S&P 500 ลดลง 225.81 จุด หรือ 7.6% ปิดที่ 2,746 จุด เลวร้ายที่สุดนับจากวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ในสหรัฐเมื่อปี ค.ศ. 2008 เช่นเดียวกับตลาดหุ้นยุโรปที่ร่วงลง 9% 

ที่จริงสัปดาห์ก่อนหน้านั้นดาวโจนส์ก็ร่วงลงวันเดียวกว่า 1,000 จุด ก็ถือว่ามากแล้ว สาเหตุหลักมาจากความหวาดกลัวการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็วในชาติตะวันตกโดยเฉพาะยุโรป แต่เมื่อเกิดศึกราคาน้ำมันระหว่างซาอุดีอาระเบียในฐานะผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกในกลุ่มโอเปกและรัสเซีย เพราะตกลงกันไม่ได้เรื่องลดกำลังการผลิต กระทั่งทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกดิ่งลงรุนแรงถึง 24% ต่ำสุดในรอบ 29 ปี ยิ่งซ้ำเติมให้เกิดความตื่นตระหนกไปยังตลาดทุนทั่วโลก 

การลุกลามของโควิด-19 ที่ระบาดไปเกือบทุกประเทศ กระทั่งผู้ติดเชื้อเกิน 1 แสนราย และประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบถ้วนหน้า ทั้งจากการยกเลิกเที่ยวบิน ทั้งมาตรการกักตัวอย่างเข้มงวด ทั้งการปิดเมือง ฯลฯ ทำให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญและสถาบันต่าง ๆ เริ่มคาดการณ์ถึงระดับผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจโลก เพราะเริ่มจะเห็นแนวโน้มได้ชัดกว่าช่วงแรก โดยสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IIF) ประเมินว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปีนี้น่าจะใกล้เคียง 1% อ่อนแอที่สุดนับจากวิกฤตการเงินในสหรัฐเมื่อปี ค.ศ. 2008 และต่ำกว่าปีที่แล้วซึ่งขยายตัว 2.6%

ส่วนสถาบันอื่น ๆ ต่างปรับลดคาดการณ์จีดีพีลงจากเดิม โดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) เชื่อว่าปีนี้จีดีพีโลกจะขยายตัว 2.4% ลดลงจากเดิม 0.5% มูดีส์ อินเวสเตอร์เซอร์วิส ประเมินว่า จะอยู่ที่ 2.1% จากเดิม 2.4% เพราะเดิมนั้นการคำนวณอยู่บนพื้นฐานที่ว่า โควิด-19 จะกระทบต่อดีมานด์ในตลาดจีนเป็นหลัก แต่ตอนนี้ชัดเจนว่าจะกระทบต่อดีมานด์ทั่วโลก และยังสะเทือนไปถึงกิจกรรมเศรษฐกิจนอกภาคการค้าอีกด้วย

นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโนมูระ ชี้ว่า นี่เป็นภาวะทรุดตัวอย่างผิดปกติของเศรษฐกิจโลก นโยบายฉับพลันที่ได้ผลที่สุดไม่ใช่นโยบายการเงินหรือการคลัง แต่คือการควบคุมความปลอดภัยทางสาธารณสุข หากการควบคุมการระบาดล้มเหลวแล้วละก็ ตลาดเงินก็ต้องยอมรับว่าการถดถอยของเศรษฐกิจโลกไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์อีกหลายคน ยอมรับว่า การคาดการณ์ครั้งนี้ก็ยังมีความไม่แน่นอนสูงอยู่ดี เนื่องจากต้องรอดูพัฒนาการสำคัญ 2 เรื่อง อย่างแรก ไวรัสอาจระบาดกว้างกว่าที่สันนิษฐานไว้เดิม และอย่างที่ 2 หากการสันนิษฐานเกี่ยวกับการระบาดถูกต้อง ระดับที่มันกระทบต่อเศรษฐกิจอาจใหญ่กว่าที่คาดไว้เดิม นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่ดิ่งลงรุนแรงจะทำให้เศรษฐกิจโลกในระยะใกล้แย่ลง

สงครามราคาน้ำมันที่ถูกวิเคราะห์ว่าเหตุที่รัสเซียไม่ยอมลดกำลังการผลิตลงอีก ก็เพราะมีเป้าหมายจะเล่นงานบริษัทน้ำมันสหรัฐที่ปัจจุบันกลายเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก ทำให้มีความเป็นไปได้ที่บริษัทน้ำมันหลายแห่งของสหรัฐที่ประสบปัญหาสภาพคล่องอยู่แล้วจากการที่ราคาน้ำมันโลกต่ำอย่างต่อเนื่อง จะได้รับผลกระทบหนักยิ่งกว่าเดิม บางรายอาจถึงขั้นล้มละลาย

นอกจากนั้น จะกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ของสหรัฐ เนื่องจากบริษัทน้ำมันเป็นผู้ออกหุ้นกู้ระดับ “จังก์บอนด์” มากที่สุดในสัดส่วนมากกว่า 11% ของตลาดตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูงของสหรัฐ ดังนั้น หากราคาน้ำมันยิ่งต่ำลงก็มีโอกาสสูงที่บริษัทเหล่านี้จะผิดนัดชำระหนี้ ดังนั้น กล่าวได้ว่าราคาน้ำมันที่ต่ำจะส่งผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ และแม้กระทั่งเศรษฐกิจสหรัฐ