พลังงาน-ท่องเที่ยว-ธุรกิจการบิน เสี่ยงผิดนัดชำระหนี้พุ่ง หวั่นลามระบบการเงินโลก

(AP Photo/Kathy Willens)

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ธุรกิจหลายแห่งทั่วโลกต้องหยุดชะงัก ส่งผลกระทบต่อปัญหาสภาพคล่อง โดยเฉพาะภาคธุรกิจท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจพลังงานจากฟอสซิลที่ถูกซ้ำเติมด้วยสงครามราคาน้ำมันที่กำลังเกิดขึ้น

ทั้งนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่ทั่วโลกกังวลว่า หากบริษัทเหล่านี้ขาดสภาพคล่องก็อาจนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ และอาจลุกลามไปยังระบบการเงินทั่วโลก กลายเป็นวิกฤตการเงินที่ซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากสถานการณ์การระบาดในปัจจุบัน

ซีเอ็นเอ็นรายงานอ้างอิงราคากองทุนซึ่งลงทุนในหุ้นกู้พบว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมากองทุนเหล่านี้มีราคาลดลงอย่างหนัก จากแรงเทขายของนักลงทุน เช่น กองทุนอีทีเอฟ the SPDR Barclays High Yield Bond ราคาลดลง 6% ขณะที่กองทุนอีทีเอฟอีกแห่งอย่าง iShares iBoxx Investment Grade Corporate Bond ราคาลดลงถึง 8%

โดย “แบงก์ ออฟ อเมริกา” เปิดเผยในรายงานบทวิเคราะห์ถึงลูกค้าของธนาคาร เมื่อ 13 มี.ค. 2020 ระบุว่า แรงเทขายหุ้นกู้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งสร้างความกังวลต่อภาวะการขาดสภาพคล่องในตลาดเครดิต

โดยรายงานของแบงก์ ออฟ อเมริการะบุว่า อุตสาหกรรมที่เผชิญกับความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้มากที่สุด คือ “ธุรกิจพลังงานจากฟอสซิล” ซึ่งได้รับผลกระทบทั้งจากการระบาดของไวรัสและสงครามราคาน้ำมัน ยิ่งกระทบต่อสภาพคล่องของบริษัทพลังงาน

นอกจากนี้ “มอร์แกน สแตนลีย์” วาณิชธนกิจชั้นนำของโลกระบุว่า ปัจจุบันหุ้นกู้ของบริษัทเหล่านี้ราว 67% มีเครดิตเรตติ้งต่ำกว่า “BBB” ซึ่งนับว่ามีความเสี่ยงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากหุ้นกู้เหล่านี้ถูกปรับลดความน่าเชื่อถือลง จะยิ่งส่งผลให้เกิดแรงเทขายออกมา และจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาการขาดสภาพคล่องเข้าไปอีก ในกรณีนี้รายงานชี้ว่า มีหุ้นกู้ราว 34,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือมากกว่า 1 แห่งกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับลดอันดับ

ขณะที่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวก็เสี่ยงเผชิญกับปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างหนัก ตั้งแต่ “ธุรกิจสายการบิน” ซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการจำกัดการท่องเที่ยว โดยเฉพาะภายหลังสหรัฐอเมริกาประกาศควบคุมการเดินทางจากยุโรป ซึ่งทาง สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) ประเมินว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน อาจกระทบต่อการสร้างกระแสเงินสดของสายการบินทั่วโลกถึง 113,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้นักลงทุนมองว่าธุรกิจเหล่านี้อาจเกิดโอกาสการผิดนัดชำระหนี้สูง

ซีบีเอสรายงานอ้างอิงราคาของอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ (credit default swap : CDS) ของสายการบิน “อเมริกา แอร์ไลน์” ที่พุ่งขึ้นกว่า 5,700% จากช่วง 23 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันราคาของอนุพันธ์ดังกล่าว อยู่ที่ 1,353 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อวงเงินผิดนัดชำระหนี้ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ราคาอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทเดินเรือสำราญ “เดอะ โรยัล แคริบเบียน” พุ่งขึ้นถึง 850% จากเดือนที่ผ่านมา โดยปัจจุบันราคาอนุพันธ์ดังกล่าวอยู่ที่ 780 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อวงเงินผิดนัดชำระหนี้ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ

ถึงแม้ว่าภาคการเงินและธนาคารทั่วโลกจะมีการจัดการกับความเสี่ยงมากขึ้น นับตั้งแต่วิกฤตการเงินเมื่อปี 2008 ซีเอ็นบีซีรายงานว่า ธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐมีการปล่อยเงินกู้ให้กับบริษัทน้ำมันราว 15% ของสินทรัพย์ ขณะที่ธนาคารขนาดกลางและเล็กมีสัดส่วนราว 25%

อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า การผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทน้ำมันจะไม่ทำให้ธนาคารเสียหายมากถึงขั้นล้มละลาย แต่นักวิเคราะห์จำนวนมากมองว่า ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ปัญหาของบริษัทเพียงไม่กี่แห่งอาจลุกลามไปสู่วิกฤตของระบบการเงินทั้งระบบได้

โดยทีมกลยุทธ์การลงทุนในพันธบัตรผลตอบแทนสูงของ “แบงก์ ออฟ อเมริกา” ระบุว่า “หากบริษัทแห่งใดแห่งหนึ่งผิดนัดชำระหนี้อาจส่งผลให้ตลาดสินเชื่อเข้าสู่วัฏจักรการหดตัว โดยแหล่งเงินทุนที่ลดลงจากความกังวลของนักลงทุนที่มากขึ้น ส่งผลให้บริษัทไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนได้ ซึ่งจะยิ่งทำให้ปัญหาขาดสภาพคล่องรุนแรงยิ่งขึ้น”

ทั้งนี้ วิกฤตทางการเงินอาจเริ่มต้นจากปัญหาของบริษัทเพียงไม่กี่แห่ง แต่ด้วยความเชื่อมโยงของระบบการเงินจึงลุกลามกลายเป็นปัญหาในภาพรวมได้ ซึ่ง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เคยออกรายงานแสดงความห่วงใยต่อหนี้สินภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยทั่วโลก โดยรายงานไอเอ็มเอฟระบุว่า เมื่อปี 2019 มีหนี้สินของภาคธุรกิจในประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลก 8 แห่ง ราว 19 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีแนวโน้มที่อาจเกิดการผิดนัดชำระหนี้สูง หากบริษัทลูกหนี้เหล่านี้เกิดปัญหาสภาพคล่อง โดยไอเอ็มเอฟชี้ว่าปัญหานี้จะเป็นสาเหตุของภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย

อย่างไรก็ตาม ณ เวลานั้น ยังไม่มีใครมองเห็นถึงปัจจัยที่จะสร้างปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง แต่สถานการณ์ระบาดของไวรัสกำลังเป็นตัวกระตุ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย จากวิกฤตสินเชื่อตามคำเตือนของไอเอ็มเอฟ และยิ่งซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจที่บอบช้ำอยู่แล้วจากการระบาดของไวรัส