จับตา HealthTech แดนมังกร เทรนด์ใหม่ ‘พบหมอออนไลน์’

REUTERS/Stephane Mahe

จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศจีน ส่งผลให้ประชากรจำนวนมากต้องอยู่ภายใต้ “มาตรการล็อกดาวน์” ส่งผลให้การ “บริการทางแพทย์ออนไลน์” เติบโตอย่างมาก สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีนที่มีความต้องการเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงทำให้กลายเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีการแพทย์ของจีน

เทคโนโลยีทางการแพทย์ของจีนกลายเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อประเทศจีน เนื่องจากระบบสาธารณสุขของจีนยังคงขาดแคลนทรัพยากรที่จำเป็นเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ โดยข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า จีนมีอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากร 18 : 10,000 คน ซึ่งน้อยกว่าประเทศชั้นนำแห่งอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่นมีสัดส่วน 24 : 10,000 คน สหรัฐมีสัดส่วน 26 : 10,000 คน และอังกฤษ 28 : 10,000 คน เป็นต้น นอกจากนี้ ทางธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ยังระบุว่า จีนมีงบประมาณในระบบสาธารณสุขเพียง 9% ของงบประมาณทั้งหมด

ขณะที่ประเทศชั้นนำอื่น ๆ ที่กล่าวมา ล้วนมีงบประมาณในสัดส่วนมากกว่า 10% ทั้งสิ้น นอกจากนี้ ทรัพยากรทางการแพทย์ยังกระจุกตัวตามเมืองใหญ่ ๆ ส่งผลให้ประชาชนตามชนบทจำเป็นต้องเดินทางเข้าเมืองใหญ่ เพื่อรับบริการทางการแพทย์ ส่งผลให้เกิดความแออัดในโรงพยาบาลอย่างมาก

ทั้งนี้ จีนถือว่ามีความต้องการบริการทางการแพทย์ที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ โดยบลูมเบิร์กรายงานว่า จีนมีผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 4 ล้านคน โดยเมื่อปี 2017 จีนมีผู้ป่วยโรคเบาหวานสะสม 114 ล้านราย และโรคหัวใจ 290 ล้านราย ปัญหาขาดแคลนทรัพยากรตามโรงพยาบาลต่าง ๆ จึงส่งผลให้การบริการสาธารณสุขออนไลน์เติบโตเป็นอย่างมาก โดย Frost & Sullivan บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจชี้ว่า มูลค่าของบริการทางแพทย์ออนไลน์ของจีนจะสูงถึง 198,000 ล้านหยวนในปี 2024 จากปี 2016 ที่มีมูลค่า 11,000 ล้านหยวน

นอกจากนี้ “เฮเลน เฉิน” หัวหน้าทีมที่ปรึกษาจาก “แอล อี เค คอนซัลติ้ง” กล่าวว่า การขาดแคลนทรัพยากรทางการแพทย์และความล้าหลังของระบบสาธารณสุข ทำให้บริการด้านแพทย์ออนไลน์ของจีนเติบโต

ในช่วงการระบาดขอไวรัสโควิด-19 ในประเทศจีน ส่งผลให้ประชากรราว 50 ล้านชีวิต อยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ อีกทั้งตามโรงพยาบาลยังเต็มไปด้วยผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวนมาก ส่งผลให้ยอดการพบแพทย์ออนไลน์เติบโตขึ้นอย่างมีนัย

เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานว่า ข้อมูลจากแพลตฟอร์ม “ทีดีดี” ของ “เทนเซนต์” ระบุว่า แพลตฟอร์มได้ทำการเชื่อมโยงแพทย์กว่า 450,000 คน กับชาวหูเป่ย์ 17 ล้านคน ระหว่างการปิดมณฑล ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ขณะที่ “ผิงอัน เฮลท์แคร์ เทคโนโลยี” ระบุว่า ยอดผู้ใช้บริการพบแพทย์ออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่นของบริษัทเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า ในช่วงมาตรการล็อกดาวน์ โดยรายงานระบุว่า หลังการระบาดของโควิด-19 บริการแพทย์ออนไลน์ของจีน รวมถึงการขายสินค้าสาธารณสุขออนไลน์ยิ่งเติบโต ซึ่งจะเป็นรากฐานที่ดี สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสุขภาพของจีน ขณะที่ “หวัง เฉียง” จากฝ่ายเทคโนโลยีของอาลีบาบาระบุว่า ระบบสาธารณสุขดิจิทัลจะกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศจีน

อย่างไรก็ตาม “กฎระเบียบ” ต่าง ๆ ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและเติบโตของตลาด ถึงแม้ว่ากฎระเบียบที่จีนจะไม่เข้มงวดเท่ากับประเทศอื่น ๆ โดยทางการจีนอนุญาตให้แพทย์สามารถใช้ระบบออนไลน์ ในการพบแพทย์เพื่อติดตามอาการและการสั่งจ่ายยาเท่านั้น และในการวินิจฉัยครั้งแรกไม่สามารถทำได้ เนื่องจากจำเป็นต้องมีการตรวจสุขภาพอย่างละเอียดก่อน


อย่างไรก็ตาม จีนเริ่มมีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ โดยเมื่อต้นเดือน มี.ค. ได้มีการบรรจุการติดตามอาการออนไลน์เข้าสู่ระบบประกันสุขภาพ ซึ่งทำให้ค่ารักษาถูกยิ่งขึ้น ดังนั้น โอกาสเติบโตของเทคโนโลยีการแพทย์ที่จีนจึงมีศักยภาพเป็นอย่างมาก