‘ไอเอ็มเอฟ’ แนะศึกษาวิธีจีน อุ้มเศรษฐกิจในวิกฤตโควิด-19

REUTERS/Aly Song

ชีพจรเศรษฐกิจโลก โดยไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

 

ในขณะที่ผู้กำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจของหลายประเทศออกมาเตือนว่า วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาจส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศทรุดหนัก และเชื่อกันเป็นส่วนใหญ่ว่า การฟื้นตัวจากวิกฤตหนนี้จะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในลักษณะเหมือนตัว “ยู” อย่างที่เรียกกันว่า “ยูเชป” นั้น

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กลับมองต่างออกไป

ไอเอ็มเอฟยอมรับว่า ผลกระทบในระยะสั้น ๆ นั้นหนักหนาสาหัสแน่ แต่ยังคงมั่นใจว่า การที่ก่อนหน้าเกิดวิกฤตการณ์นี้ เศรษฐกิจเริ่มต้นขยายตัวต่อเนื่องเป็นส่วนใหญ่ในหลายภูมิภาคของโลก พร้อมกันนั้นอัตราการจ้างงานก็อยู่ในระดับสูง ทำให้การฟื้นตัวสามารถกลับคืนมาได้ทันทีในลักษณะของ “วีเชป”

คำถามที่น่าสนใจคือที่ว่าหนักนั้น หนักขนาดไหน ?

ไอเอ็มเอฟขยายความเอาไว้ว่า ภาวะช็อกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้นหนักหนาสาหัสกว่าเมื่อเทียบเคียงกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งหลังสุด ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างปี 2007-2008

ที่หนักหน่วงเช่นนั้นเป็นเพราะ จู่ ๆ กิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกอย่างหยุดลงฉับพลัน แล้วลุกลามออกไปอย่างรวดเร็วทั้งระบบเศรษฐกิจ กลายสภาพเป็นสภาวะช็อกเต็มรูปแบบซึ่งเกิดขึ้นทั้ง 2 ทาง คือ ทั้งทางอุปสงค์และอุปทาน พร้อม ๆ กัน ปรากฏการณ์นี้เห็นได้ชัดเจนในจีนระหว่างเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

อันเป็นผลมาจากคำสั่งการปิดเมือง ปิดกิจการทุกชนิด ห้ามประชากรเคลื่อนไหวในหลาย ๆ มณฑล แลกกับการเกิดภาวะหยุดกึกทางเศรษฐกิจที่สร้างผลลบมูลค่ามหาศาล

ส่งผลกระทบทั้งครัวเรือน, ธุรกิจ, สถาบันการเงิน และตลาดทุกตลาดอย่างหนักหน่วงไปพร้อม ๆ กัน

เช่นเดียวกับการระบาดของโรค การระบาดของปัญหาทางเศรษฐกิจ เริ่มต้นที่จีน ลุกลามออกไปเกิดเหมือน ๆ กันในหลาย ๆ ชาติทั่วโลก

ไอเอ็มเอฟมองว่า ภายใต้สภาวการณ์ “ช็อก” เช่นนี้ จำเป็นต้องดำเนินมาตรการรองรับส่วนที่เปราะบางที่สุดในสังคม เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด

กลุ่มเปราะบางเหล่านี้คือใคร ? และมาตรการช่วยเหลือควรดำเนินการอย่างไร ?

ไอเอ็มเอฟบอกว่า ให้ศึกษาและปรับปรุงวิธีการที่จีนนำมาใช้ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

กลุ่มที่เปราะบาง ทานรับแรงกระแทกจากภาวะช็อกไม่ได้มากมายนักและไม่นานนัก ก็คือครัวเรือน โดยเฉพาะครัวเรือนในพื้นที่การระบาด ถัดมาคือกลุ่มกิจการขนาดเล็กและขนาดกลาง

ไอเอ็มเอฟชี้ว่า ทางการจีนนำเอาวิธีการใหม่ ๆ มาใช้หลายอย่าง ที่น่าสนใจก็คือ การยกเลิกการสมทบเงินเข้ากองทุนประกันสังคมชั่วคราว, กำหนดให้ไม่ต้องชำระค่าไฟ ค่าน้ำ ในเวลาเดียวกันก็ปล่อยสินเชื่อผ่านบริษัทฟินเทคทั้งหลาย

ข้อเสนอแนะก็คือ แนวนโยบายที่ให้ผลแบบเดียวกันนี้อื่น ๆ ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ อาทิ การให้สินเชื่อของทางการต่อกิจการธุรกิจให้ขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงเวลานี้ อย่างเช่น กิจการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น

สิ่งที่ทางการจีนดำเนินการถัดมาก็คือ การสร้างเสถียรภาพให้กับระบบการเงิน ทั้งการให้หลักประกันในตลาดระหว่างธนาคาร การให้การสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทที่ถูกกดดันอย่างหนัก หรือการสร้างแรงจูงใจด้วยการจัดตั้งกองทุนพิเศษเพื่อให้ธนาคารเหล่านั้นปล่อยกู้ให้กับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางได้

แต่ในเวลาเดียวกัน ไอเอ็มเอฟเตือนเอาไว้ด้วยว่า เครื่องมือสำหรับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเหล่านี้ เกือบทั้งหมดมีปัญหาอยู่ในตัวเอง ซึ่งผู้กำหนดนโยบายต้องคำนึงและนำมาใคร่ครวญร่วมด้วย

ตัวอย่าง เช่น การยืดระยะเวลาชำระหนี้ให้กับบรรดาลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด ย่อมส่งผลกระทบต่อสถานภาพของระบบการเงินในเวลาต่อมาแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากไม่ถูกนำไปใช้แก้ปัญหาให้ตรงเป้าหมาย และไม่จำกัดระยะเวลาให้ชัดเจน

ในกรณีการให้สินเชื่อโดยรัฐ เงินสินเชื่อดังกล่าวนั้นอาจไปลงเอยผิดที่ผิดทาง ผิดกลุ่มเป้าหมาย

นอกจากนั้นในกรณีที่พยายามฝืนอุ้มเอากิจการธุรกิจที่ไม่มีขีดความสามารถอยู่ในตัวเองให้อยู่รอดได้ต่อไป อาจกลายเป็นการปิดกั้นการขยายตัวของผลิตภาพในเวลาต่อมาได้

คำเตือนสุดท้ายของไอเอ็มเอฟก็คือ ระยะเวลาที่กำหนดใช้มาตรการทำนองนี้จะต้องเหมาะสม และไม่ก่อให้เกิดปัญหาซ้ำขึ้นมาอีกครั้ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบางประเทศที่เข้าใจว่า สามารถยับยั้งการแพร่ระบาดได้แล้ว ทางที่ดีต้องคำนึงถึงสถานการณ์โดยรวมของโลกเพื่อนำมาพิจารณาด้วย ด้วยเหตุที่ว่าหากยังคงเกิดการแพร่ระบาดอยู่ในอีกหลายประเทศทั่วโลก ความต้องการสินค้าก็ยังคงถูกกดให้ต่ำไว้ต่อเนื่อง

ความเสี่ยงต่อกิจการธุรกิจทั้งหลายก็ยังคงอยู่นั่นเอง