ไวรัสทำพิษ Gig Economy ‘อาชีพอิสระ’ ขาดการเยียวยา

REUTERS/Valentyn Ogirenko

วิถีชีวิตและการทำงานที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี ส่งผลให้ช่วงที่ผ่านมาเกิดการจ้างงานแบบ “กิ๊กอีโคโนมี” (gig economy) ซึ่งเป็นการจ้างงานแบบชั่วคราว มีความยืดหยุ่นด้านเวลาสูง มีอิสระมากกว่างานประจำ และพึ่งพาแพลตฟอร์มออนไลน์ในการทำงาน ซึ่งเป็นเทรนด์การทำงานที่ได้รับความนิยมในกลุ่มคนยุคมิลเลนเนียลช่วงที่ผ่านมา แต่จากการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ทำให้กลุ่มกิ๊กอีโคโนมีได้รับผลกระทบและมีความเสี่ยงต่ออาชีพการงานสูงในหลายมิติ

ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ผู้ทำงานแบบกิ๊กอีโคโนมีทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาวะโรคระบาด ทั้งจากมาตรการควบคุมโรคที่หลายประเทศบังคับใช้ รวมถึงมาตรการเยียวยาที่ไม่ครอบคลุมแรงงานกลุ่มนี้ อย่างเช่น “สหราชอาณาจักร” ที่ประกาศในมาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ โดยห้ามการเดินทางของพลเมืองทั้งหมดยกเว้นมีเหตุจำเป็น เช่นเดียวกับ “สหรัฐอเมริกา” ที่ใช้มาตรการดังกล่าวในหลายรัฐ

มาตรการล็อกดาวน์เหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อผู้ทำงานในกิ๊กอีโคโนมีบางส่วนทันที อย่างกรณีผู้ขับรถแบบ “ไรด์แชริ่ง” ที่ไม่มีผู้ใช้บริการเพราะไม่มีคนเดินทาง หรือผู้ส่งสินค้าดีลิเวอรี่ที่ต้องเผชิญความลำบากในการขนส่งในบางพื้นที่ ยิ่งไปกว่านั้นในบางประเทศอย่าง “อินเดีย” ที่ใช้มาตรการล็อกดาวน์โดยไม่อนุญาตให้มีการขนส่งสินค้าทั้งหมดด้วย

ขณะที่มาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจของหลายรัฐบาลก็ไม่ครอบคลุมผู้ทำงานแบบกิ๊กอีโคโนมี อย่างเช่น มาตรการของรัฐบาลอังกฤษที่จะชดเชยค่าแรงผู้ได้รับผลกระทบสูงสุด 80% ของเงินเดือน ก็ไม่ครอบคลุมคนทำงานแบบกิ๊กอีโคโนมีที่มีราว 5 ล้านคนทั่วประเทศ เนื่องจากกิ๊กอีโคโนมีถูกมองว่าเป็นการจ้างเหมาและไม่มีฐานเงินเดือนชัดเจน ทำให้คนกลุ่มนี้จะได้รับความช่วยเหลือเพียงเล็กน้อยผ่านระบบภาษีและระบบสวัสดิการรัฐเท่านั้น

สหพันธ์กรรมกรใหญ่ของอังกฤษ (ทียูซี) ตัวแทนสหภาพแรงงานกว่า 50 แห่ง ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษช่วยเหลือแรงงานกลุ่มนี้ โดยระบุว่า มาตรการช่วยเหลือแรงงานอิสระที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการขยายเวลาการยื่นชำระภาษี รวมถึงการจ่ายเงินช่วยเหลือสูงสุด 94 ปอนด์/สัปดาห์ ผ่านทางระบบสวัสดิการแรงงานยัง “ไม่ดีพอ”

“ซาดิก ข่าน” นายกเทศมนตรีของกรุงลอนดอน ระบุว่า “หลายคนที่ต้องเดินทางออกไปทำงานในวันนี้ คือ คนที่ทำงานในกิ๊กอีโคโนมี หรือกลุ่มฟรีแลนซ์ ผมหวังว่ารัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือแรงงานเหล่านี้ รวมถึงควบคุมการขนส่งสาธารณะที่เหมาะสมด้วย”

ขณะที่ “ดารา คอสราวชาฮี” ซีอีโอของอูเบอร์ ก็ได้เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐมีมาตรการคุ้มครอง และช่วยเหลือแรงงานกิ๊กอีโคโนมีที่อยู่ในกลุ่มแรงงานอิสระของสหรัฐทั้งหมดราว 15.9 ล้านคน หรือ 10% ของแรงงานในประเทศทั้งหมด ซึ่งแรงงานเหล่านี้จะถูกจัดเป็นกลุ่มรับจ้างเหมาอิสระและไม่ได้รับสวัสดิการแรงงาน

แม้อูเบอร์จะมีมาตรการช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ขับรถหรือผู้ส่งสินค้าดีลิเวอรี่ที่ลงทะเบียนแก่อูเบอร์เป็นเวลา 14 วัน หากบุคคลนั้นมีอาการป่วยจากเชื้อไวรัสและถูกกักโรค แต่ยังคงไม่เพียงพอจะชดเชยผลกระทบทั้งหมด โดยนายคอสราวชาฮีระบุว่า กฎหมายของสหรัฐ “ควรคุ้มครองแรงงานทุกคน ไม่ใช่อาชีพใดอาชีพหนึ่ง”