ปัญหาใต้พรม “เยอรมนี” ปรากฏการณ์ “รวยกระจุก-จนกระจาย”

“เยอรมนี” ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของยุโรป ทั้งยังเป็น “พี่เบิ้ม” แห่งผู้สนับสนุนหลักของสหภาพยุโรป (อียู) หลังสหราชอาณาจักร (ยูเค) เดินหน้า “เบร็กซิต”

แต่ความเป็นจริง เยอรมนีมีปัญหาใหญ่ที่ซุกซ่อนไว้ก็คือ ประชาชนที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน (รายได้ต่อเดือน 892 ยูโร) มีจำนวนมากตลอดช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะในระยะการบริหารงาน 12 ปีเต็มของนายกรัฐมนตรีหญิง “อังเกลา แมร์เคิล”

ดังนั้น การเลือกตั้งเยอรมนี วันที่ 24 ก.ย.นี้ ที่ทุกฝ่ายเชื่อว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 4 ของแมร์เคิล จึงเป็นที่จับตาว่า นโยบายหรือมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ “ความยากจน” จะถูกนำมาปรับปรุงหรือไม่ ?

รอยเตอร์สรายงานว่า ปี 2016 จำนวนประชากรที่ไม่ใช่ชาวเยอรมันแท้เพิ่มขึ้น 8.5% มากเป็นประวัติการณ์ หรือกว่า 1 ใน 5 ของประชากรทั้งประเทศ

สำนักงานสถิติแห่งชาติของเยอรมนีระบุว่า ประชากรราว 22% เป็นผู้อพยพที่ไม่ถือสัญชาติเยอรมัน โดยพบว่า 2.3 ล้านคน มีเชื้อสายครอบครัวมาจากตะวันออกกลาง เพิ่มขึ้นเกือบ 51% จากปี 2011 และประมาณ 740,000 คน สืบเชื้อสายมาจากแอฟริกา เพิ่มขึ้น 46%

ตัวเลขผู้อพยพดังกล่าวเพิ่มแรงกดดันต่อการเลือกตั้งมากขึ้น แม้ว่านักวิเคราะห์ไม่ได้โฟกัสไปที่พรรคใดเป็นฝ่ายกุมชัยชนะ เนื่องจากจุดยืนเรื่องการรับผู้ลี้ภัยไม่ต่างกันระหว่างท่าทีของแมร์เคิล และผู้ท้าชิงคนสำคัญอย่าง “มาร์ทิน ชูลซ์” แต่นโยบายหาเสียงของนายชูลซ์ ที่ชูประเด็น “ช่องว่างระหว่างคนจนคนรวย” กลายมาเป็นสิ่งที่นานาชาติให้ความสนใจ เพราะ “ความยากจน” เป็นปัญหาที่เรื้อรังมาตลอดของเยอรมนี เพียงแต่ไม่มีใครหยิบยกขึ้นมาพูดเท่านั้น

“เดอะ โลคอล เด” สื่อท้องถิ่นเยอรมนีระบุว่า งานวิจัยขององค์กรสวัสดิการ Paritatische Wohlfahrtsverband ชี้ว่า การบริหารงานของ CDU พรรคฝ่ายขวากลางของเยอรมนี ที่นำโดยนางแมร์เคิล ชูนโยบายที่จะใช้แรงงานจากผู้อพยพในการผลักดันให้เยอรมนีมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นใน 8 ปีข้างหน้า มากกว่ามุ่งแก้ไขปัญหาความยากจนที่รุนแรงขึ้น

ขณะที่ผลงานของแมร์เคิลที่ผ่านมาเป็นที่น่าประทับใจต่อประชาชนส่วนใหญ่ แต่ก็เป็นเพียงกลุ่มคนรายได้ปานกลางถึงสูง แม้อัตราว่างงานของเยอรมนีในเดือน ก.ค. จะลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 3.7% แต่อัตราความยากจนกลับสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง โดยในปี 2015 อัตราความยากจนของเยอรมนีทั้งประเทศเฉลี่ยอยู่ในระดับสูงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นที่ 15.7% โดยเฉพาะในกรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงของเยอรมนี อัตราความยากจนพุ่งจาก 20% ในปี 2014 สู่ระดับ 22.4% ในปี 2015 ทั้งนี้ พบว่าปัจจุบัน 11 รัฐ ใน 16 รัฐของเยอรมนี มีปัญหาความยากจนมากขึ้น เนื่องจากประชาชนต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่รายได้ของคนส่วนใหญ่ไม่ได้เพิ่มตาม

นักวิเคราะห์มองว่า แม้เศรษฐกิจของเยอรมนีโตต่อเนื่อง รวมถึงภาวะการว่างงานที่ต่ำลง ทว่าอัตราความยากจนของเยอรมนีกลับไม่เคยลดลงตาม คาดว่าเกิดจากการกระจายทรัพยากรและความมั่งคั่งที่ไม่เท่าเทียมกัน จึงเกิดเป็นปรากฏการณ์ “รวยกระจุก-จนกระจาย”


โดยพบว่าจำนวนเศรษฐีเพิ่มขึ้นจาก 12,424 คน ในปี 2009 เป็น 16,495 คนในปี 2016 ขณะที่จำนวนผู้ไร้ที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งมีข้อมูลระบุว่าปัจจุบันชาวเยอรมันที่มีหนี้ท่วมหัวมากถึง 4.17 ล้านคน แม้ในช่วงการบริหารของแมร์เคิล อัตราค่าจ้างแรงงานจะปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10% แต่ส่วนใหญ่เป็นการปรับเพิ่มในกลุ่มระดับบน ไม่ใช่กลุ่มผู้มีรายได้ต่ำ และความล้มเหลวในการแก้ปัญหาความยากจนในเยอรมนี จึงส่อแววรุนแรงขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า หากคณะบริหารงานไม่เปลี่ยนจุดยืนเช่น คำกล่าวของ “ฌอง คล็อด ยุงเกอร์” ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ที่กล่าวไว้ว่า “เยอรมนีมีหนี้สินมากกว่าใครในยุโรป มากกว่าสเปนเสียอีก เพียงแต่กวาดปัญหาเอาไว้ใต้พรม แล้วใช้ชีวิตไปวัน ๆ ขณะที่วิธีการแก้ไขปัญหาก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ใช่ที่ต้นเหตุ”