พลังช็อก “โควิด-19” ตัวอย่างจากสหรัฐอเมริกา

(AP Photo/Mark Lennihan)

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นถึงพลานุภาพทำลายล้างทางเศรษฐกิจของโรคระบาดโควิด-19 ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุด เห็นจะเป็นตัวเลขคน “ตกงาน” ในสหรัฐอเมริกา ที่แถลงกันออกมาเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา

ในระยะเวลาเพียง 1 สัปดาห์ คนอเมริกันตกงานแล้วไปยื่นขอสิทธิประโยชน์จากทางการมากถึง 3.3 ล้านคน

มากเป็นประวัติการณ์เท่าที่เคยมีการบันทึกสถิติเรื่อยมา

สถิติตกงานเป็นรายสัปดาห์ของคนอเมริกันที่เคยเป็นสถิติสูงสุดคือ 695,000 คน ยืนยงมานานตั้งแต่ปี 1982

ที่น่าตกใจมากยิ่งขึ้นก็คือ นั่นเป็นเพียงตัวเลขแรงงานในระบบเท่านั้น ยังไม่รวมงานพาร์ตไทม์ งานที่เป็นของตัวเอง งานที่รับทำชั่วคราวอย่างที่อเมริกันเรียกว่า “gig workers” ซึ่งไม่สามารถอ้างสิทธิประโยชน์ได้ ซึ่งรวมแล้วมีจำนวนอีกมาก

และทั้งหมดนั่นเป็นเพียงแค่เริ่มต้นเท่านั้นเอง

เศรษฐกิจการบริการ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม, ภัตตาคาร และร้านค้าปลีกทั้งหลาย ถูก “ชัตดาวน์” ลงโดยสิ้นเชิง เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อโควิด-19

ผลก็คือเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยแน่นอนแล้ว ที่ยังไม่แน่นอนก็คือ จะถอยลงลึกแค่ไหนและเลวร้ายเพียงใดเท่านั้นเอง

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ทั่วไปประเมินเอาไว้เป็นพื้นฐานว่า หลังไตรมาสแรกที่เลวร้ายผ่านไป เศรษฐกิจอเมริกันในไตรมาส 2 สิ้นสุดในเดือน มิ.ย.จะหดตัวลงมากถึง 25% จำนวนคนตกงานในเวลานั้นจะมีไม่น้อยกว่า 5 ล้านคน

บางคนอย่างเช่น ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาสาขาเซนต์หลุยส์ เชื่อว่า ภาวะถดถอยจะดิ่งลึกลงไปมากจนทำให้จีดีพีติดลบมากถึง 50% ในเวลานั้น และนั่นจะทำให้ 30% ของแรงงานทั้งหมดกลายเป็นคนว่างงาน

ปัญหาที่แท้จริงก็คือ ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อถึงตอนนั้น เพราะไม่เคยพบเคยเห็นสภาพการณ์เช่นนี้กันมาก่อน

เดวิด ออเทอร์ นักเศรษฐศาสตร์แรงงานแห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกว่าเป็นนักวิชาการชั้นนำด้านนี้ ชี้ให้เห็นว่า ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือภาวะเงินฝืดที่ผ่านมา มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหลายของรัฐ จะส่งผลให้เกิดความต้องการแรงงานขึ้นตามมา

ประเด็นหนักหนาสาหัสในเวลานี้ก็คือ รัฐกระตุ้นเศรษฐกิจไปพลาง บอกให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้านไปพลาง กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดก็ยุติลงไปพร้อม ๆ กัน

ทุกอย่างจึงต้องรอ รอให้สถานการณ์ระบาดที่เลวร้ายที่สุดผ่านพ้นไป เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ กลไกปกติของมาตรการกระตุ้นเหล่านั้นจึงสามารถจะผลิดอกออกผลได้

ปัญหาสำคัญก็คือ ในช่วงของการรอนี้ เราจำเป็นต้อง “อุ้ม” ให้ธุรกิจทั้งหลาย “อยู่รอด” ต่อไปให้ได้ ห้ามปล่อยให้ล้มหายตายจากไปก่อน ไม่เช่นนั้น การ “รีสตาร์ต” เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจทำได้ยากมาก ถึงมากที่สุด

นี่คือความสำคัญของมาตรการแจกเงิน มาตรการช่วยเหลือ บรรเทาผลกระทบทั้งหลาย ซึ่งเหมาะสมที่สุดกับสภาวการณ์เช่นนี้

และเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการยืดชีวิตของแรงงาน ของกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งในยามปกติก็ “เปราะบาง” อยู่แล้ว แต่ในเวลานี้สถานการณ์เลวร้ายถึงขีดสุด ชนิดทุกคนเห็นได้ชัดเจน

ถามว่า มาตรการรัฐบาลอเมริกัน 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ พอหรือไม่ เหมาะหรือไม่

อรินทราจิต ดูเบ นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ แอมเฮิรสต์บอกว่าไม่มีวันที่จะมีมาตรการไหน ๆ สมบูรณ์แบบ แต่ที่สำคัญก็คือ “ต้องทำ” และ “ต้องทำแบบมีเป้าหมาย” ที่ชัดเจน

ต้องพุ่งเป้าให้ความช่วยเหลือไปยังภาคส่วนของเศรษฐกิจที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดและเร็วที่สุดในเวลานี้ก่อน ตรวจสอบกันให้ดีว่า กิจการประเภทใดควรได้รับความช่วยเหลือก่อนล้มหายตายจาก ต้องตระหนักว่า พื้นที่ใด เมืองไหนที่ประสบปัญหา เผชิญความยุ่งยากลำบากมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ

หลาย ๆ ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง กิจการของตัวเอง ก็ต้องการทุนไปหมุนเวียนแบบที่เข้าถึงได้ง่าย ไม่มีเงื่อนไขจำกัดมากนัก เหมือน ๆ กับบรรดาคนตกงาน ไม่เช่นนั้นก็จะม้วนเสื่อไปโดยถาวรเช่นเดียวกัน

ธุรกิจขนาดใหญ่ เงินทุนหมุนเวียนมีมาก และกิจการบางประเภท ในบางพื้นที่ ยังสามารถรอได้จนกว่าจะถึงช่วงของการฟื้นฟู

ไม่เช่นนั้น ไม่เพียงบรรดากิจการเหล่านี้จะล้มหายตายจากไปมากมาย แรงงานเคว้งคว้างมหาศาลเท่านั้น


มาตรการฟื้นฟู ดึงกิจการเศรษฐกิจขึ้นมาให้คึกคักเหมือนเดิม หรือยิ่งกว่าเดิม ก็เป็นไปได้ยากเย็นอย่างยิ่งนั่นเอง