ยุโรปตื่น “การทูตหน้ากากจีน” ผวาสอดไส้ “อิทธิพลการเมือง”

A picture taken on March 30, 2020, shows a billboard bearing Chinese President Xi Jinping's face looking down over a boulevard next to the words "Thank you brother Xi", a message paid for and by a pro-government tabloid. - When six Chinese doctors landed in Belgrade two weeks ago, Serbia's president greeted them with elbow-bumps before laying a kiss on their country's flag, a gesture of gratitude that sent Chinese social media aflutter. These doctors are now running the Balkan state's COVID-19 strategy, as Serbia becomes a willing theatre for Beijing's "mask diplomacy". For weeks China has been showering European countries with millions of face masks, test kits and other aid, recasting itself as the hero in the battle against coronavirus. (Photo by Andrej ISAKOVIC / AFP)

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย นงนุช สิงหเดชะ

นาทีนี้สหรัฐอเมริกาและยุโรป กลายเป็นศูนย์กลางแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ไปอย่างสมบูรณ์แบบ ที่น่าประหลาดใจ ก็คือ อเมริกากลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก แซงจีนและอิตาลีไปแล้ว โดย ณ วันที่ 1 เมษายน ผู้ติดเชื้อในสหรัฐอยู่ที่ 188,547 คน ตามมาด้วยอิตาลี 105,792 คน

ที่น่าสนใจอีกประการก็คือ จำนวนผู้เสียชีวิตในอเมริกาแซงจีนไปแล้วเช่นกันที่ 3,899 คน

ขณะที่จีนค่อนข้างนิ่งอยู่ที่ 3,310 คน ตัวเลขดังกล่าวเท่ากับว่ามีคนอเมริกันเสียชีวิตด้วยไวรัสมรณะมากกว่าเสียชีวิตในเหตุการณ์วินาศกรรมสหรัฐเมื่อ ค.ศ. 2001 ที่เรียกว่าเหตุการณ์ 9/11

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกลับกันอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ จีนเป็นฝ่ายแข็งแรงเริ่มตั้งตัวได้ จึงมีศักยภาพออกไปช่วยเหลือประเทศอื่น ทั้งการส่งอุปกรณ์การแพทย์หรือส่งผู้เชี่ยวชาญไปช่วยเหลือ

หลังจากฟื้นไข้แล้ว จีนได้เริ่มส่งผลิตภัณฑ์จำเป็นทั้งหมดไปช่วยทั้งยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา และเอเชีย อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือของจีนถูกตีความและมองอย่างระแวงจากยุโรปว่ามีวาระแอบแฝงทางการเมือง เห็นได้จากคำพูดของ นายโจเซฟ บอร์เรล หัวหน้านโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) ที่ออกมาเตือนยุโรปให้ระวังความเอื้ออารีของจีนที่อาจแฝงมาด้วยการพยายามสร้างอิทธิพล เป็นการเล่นการเมืองผ่านความใจดีมีเมตตา

พร้อมกันนั้นนายบอร์เรลยังได้หันไปสรรเสริญอเมริกาว่าเป็นพันธมิตรที่พึ่งพาได้ และมีความรับผิดชอบมากกว่า ทั้งที่ในช่วงที่การระบาดหนักเกิดขึ้นในยุโรปนั้น ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ซ้ำเติมด้วยการแบนคนยุโรปทั้งหมดไม่ให้เข้าสหรัฐ

คำพูดของนายบอร์เรลต่างจากท่าทีของ นางเออร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ที่ก่อนหน้านี้ได้ออกมาขอบคุณจีนที่จัดส่งหน้ากากสำหรับการผ่าตัด 2 ล้านชิ้นให้ โดยระบุว่านี่เป็นการตอบแทนกลับคืนหลังจากก่อนหน้านี้อียูได้ส่งผลิตภัณฑ์เดียวกันให้จีนในช่วงที่จีนวิกฤตหนัก

มีการอ้างแหล่งข่าวว่า สาเหตุที่อียูระแวงจีนเป็นเพราะ 1.อียูรู้สึกว่า ผู้นำสูงสุดของจีนชอบที่จะติดต่อโดยตรงกับยุโรปรายประเทศมากกว่าจะติดต่อผ่านกลุ่มอียู มีการระบุว่าประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเป็นเพียงคนเดียวที่ไม่ได้รับโทรศัพท์จาก ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

ขณะที่ผู้นำของแต่ละประเทศไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี และกษัตริย์ฟิลิปเปของสเปน ล้วนได้รับโทรศัพท์จากประธานาธิบดีจีนโดยตรง แต่ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปได้รับแค่โทรศัพท์จาก นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนเท่านั้น

ประการที่ 2 อียูรู้สึกตกใจต่อปฏิกิริยาของประธานาธิบดีเซอร์เบีย (อยู่ระหว่างเจรจาร่วมเป็นสมาชิกอียู) ที่ออกมาตำหนิอียู ว่า ความเป็นเอกภาพของอียูเป็นแค่เรื่องจินตนาการ หลังจาก

อียูลังเลที่จะสั่งห้ามการส่งออกอุปกรณ์ทางการแพทย์ พร้อมกันนั้นก็หันไปยกย่องประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ว่าเป็นเพื่อนและพี่ชาย นอกจากนั้น ขณะที่อียูจัดสรรเงินเร่งด่วน 7.5 ล้านยูโร เพื่อช่วยเหลือเซอร์เบีย ก็ปรากฏว่าจีนเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วในการสร้างสัมพันธ์ที่แน่นขึ้นกับเซอร์เบีย โดยประธานาธิบดีจีนได้โทรศัพท์ถึงผู้นำเซอร์เบียเสนอความช่วยเหลืออุปกรณ์การแพทย์

มิวะ ฮิโรโนะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการช่วยเหลือต่างประเทศของจีน แห่งมหาวิทยาลัยริตสึเมคันของญี่ปุ่น ระบุว่า “การทูตหน้ากาก” ของจีนในครั้งนี้ต่างจากคราวที่ช่วยเหลือแอฟริกาตะวันตกช่วงเกิดการระบาดของอีโบลาในปี ค.ศ. 2014-2016 ครั้งนั้นจีนไม่ถูกกล่าวหาว่าพยายามจะเป็นผู้นำโลกและสร้างภาพลักษณ์ตัวเอง รวมทั้งสร้างซอฟต์พาวเวอร์ด้วยการมอบหน้ากากอนามัย

ฮิโรโนะ ติงเตือนว่า การมอบความช่วยเหลือในครั้งนี้ ปักกิ่งไม่ควรถูกตีความว่ามีแรงจูงใจแบบนั้นทั้งหมด เพราะหลายประเทศเสนอความช่วยเหลือเช่นเดียวกัน ทุกคนอยากสร้างภาพลักษณ์ทั้งนั้น ไม่ใช่แค่จีน เช่น เกาหลีใต้ ก็มอบชุดตรวจโควิด-19 จำนวน 1.5 หมื่นชิ้นให้ฟิลิปปินส์

ขณะที่ไต้หวันซึ่งไม่ถูกกับจีนก็บริจาคหน้ากาก 1 ล้านชิ้นให้ปารากวัย หลังจากจีนได้มอบความช่วยเหลือปารากวัย

“ไม่ว่าความกังวลดังกล่าวจะมีเหตุผลชอบธรรมแค่ไหนก็ตาม แต่การเชื่อมโยงทุกอย่างที่จีนทำ เข้ากับข้อกล่าวหาที่ว่า จีนต้องการเป็นผู้นำโลกโดยไม่คำนึงถึงบริบทและประวัติศาสตร์การ

ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม จะทำให้เราตาบอด มองไม่เห็นความจริงแท้ในสิ่งที่จีนทำ”