“แอปเปิล”จับมือจีน ตั้งศูนย์เก็บข้อมูล ตามกม.ความมั่นคงไซเบอร์-ผู้ใช้หวั่นโดนล้วงข้อมูล

บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกอย่างเเอปเปิล ตัดสินใจร่วมมือกับรัฐบาลจีน เล็งตั้งศูนย์จัดเก็บข้อมูลแห่งเเรกในจีน เพื่อปรับตามกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ สร้างความวิตกกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวของบรรดาผู้ใช้ไอโฟน ไอแพด และแมคในประเทศ ที่มีการส่งข้อมูลผ่านบัญชีไอคลาวด์

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า บริษัท แอปเปิ้ล อิงค์ เตรียมจับมือกับบริษัท กุ้ยโจว คลาวด์ บิ๊ก ดาต้า อินดัสทรี (ซีจีบีดี) ลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.4 หมื่นล้านบาท) เพื่อสร้างศูนย์ข้อมูลในจีนขึ้นที่มณฑลกุ้ยโจว

การร่วมมือดังกล่าว เป็นไปเพื่อปรับตามกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ของรัฐบาลจีนที่ประกาศบังคับใช้เมื่อเดือนที่ผ่านมา ซึ่งกำหนดไว้ว่าบริษัทต่างชาติที่จะให้บริการคลาวด์ในจีนได้นั้น จำเป็นต้องร่วมมือกับบริษัทท้องถิ่น และเก็บข้อมูลไว้ในจีนเท่านั้น

โดยศูนย์ดังกล่าวจะจัดเก็บข้อมูลของลูกค้าแอปเปิลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นไฟล์ รูปภาพ วิดีโอ เอกสาร และข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ ที่มีการอัพโหลดผ่านบัญชีไอคลาวด์ ซึ่งแม้ว่าผู้ใช้จะเดินทางออกนอกประเทศ เเต่ข้อมูลก็จะถูกส่งกลับมาจัดเก็บที่ศูนย์ข้อมูลในจีนเช่นเดิม

ขณะที่ก่อนหน้านี้ บรรดาบริษัทต่างชาติ ออกมาเเสดงความเห็นว่ากฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ของรัฐบาลจีนมีความคลุมเครือมากเกินไป และเพิ่มความเสี่ยงด้านกฎระเบียบ รวมไปถึงกรรมสิทธิ์ในข้อมูล

อย่างไรก็ตาม ทางการจีนยืนยันว่ากฎหมายนี้ไม่ได้ทำให้บริษัทต่างชาติเสียเปรียบการแข่งขัน แต่มีเป้าหมายเพื่อรับมือภัยคุกคามไซเบอร์และการก่อการร้าย

ด้านแอปเปิล ออกแถลงการณ์ ระบุว่า การร่วมมือกับรัฐบาลจีนในการจัดตั้งศูนย์จัดเก็บข้อมูลแห่งนี้ จะไม่กระทบต่อความเป็นส่วนตัวของลูกค้าในจีน เนื่องจากแอปเปิลมีการปกป้องและการรักษาความปลอดภัยข้อมูลส่วนตัวที่แข็งแกร่ง ไม่มีทางที่ข้อมูลจากระบบจะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมายได้ พร้อมจะมีการตั้งรหัสรักษาความปลอดภัยปกป้องข้อมูลทั้งหมดด้วย

ขณะที่เหล่าผู้เชี่ยวชาญ ไม่มั่นใจต่อการรักษาความปลอดภัยนี้ พร้อมเชื่อว่าการจัดตั้งศูนย์ข้อดังกล่าว จะทำให้รัฐบาลจีนใช้ช่องทางกฎหมายดึงข้อมูลส่วนตัวของประชาชนง่ายขึ้น โดยเเนะนำให้ผู้ใช้เเอปเปิลในจีน ปิดระบบไอคลาวด์เพื่อป้องกันการสอดส่องข้อมูลส่วนตัว

ทั้งนี้ ภาคเอกชนต่างชาติยังคงกังวลกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ของจีน รวมไปถึงนโยบาย “เมดอินไชน่า 2025” ที่มีเป้าหมายยกระดับภาคการผลิตในประเทศ โดยมองว่าเป็นการเปิดช่องทางการเเข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เเละเอื้อต่อบริษัทจีนมากกว่า เเต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีบริษัทสัญชาติสหรัฐเข้ามาเจาะตลาดจีนมากขึ้นในปีนี้