“เศรษฐกิจโลก” ฟื้นแบบไหนหลัง “โควิด”

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ต่อเศรษฐกิจ เป็นที่รับรู้ได้ทั่วโลกว่า อาจนำไปสู่ “ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” ที่รุนแรงกว่าครั้งวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 และอาจจะหนักสุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ยังคงถกเถียงกันว่า หลังเหตุการณ์คลี่คลาย การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะเป็นไปในทิศทางใด

บลูมเบิร์กรายงานว่า นักเศรษฐศาสตร์พยายามอธิบายการฟื้นตัวของเศรษฐกิจด้วยรูปแบบต่าง ๆ โดยในระยะแรกเชื่อกันว่า โควิด-19 จะส่งผลไม่รุนแรงมากนัก

โดยรูปแบบการฟื้นตัวจะเป็นแบบตัว “วี” (V) หมายถึงการฟื้นตัวที่ค่อนข้างเร็ว หาก “อเมริกาและยุโรป” สามารถควบคุมได้ภายในเดือน เม.ย.-พ.ค. และผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคทันที รวมทั้งมีการใช้นโยบายการเงินการคลังครั้งใหญ่ อาจทำให้เศรษฐกิจกลับสู่ระดับก่อนวิกฤตได้ในช่วงต้นปี 2021

แม้ว่าการฟื้นแบบตัว V ยังมีโอกาสเป็นไปได้ เนื่องจากจีนกลับมาผลิตอีกครั้งแล้ว แต่การแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นทั่วโลก ทำให้นักเศรษฐศาสตร์มองว่า เศรษฐกิจโลกอาจฟื้นตัวแบบตัว “ยู” (U) คือฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป

ภายใต้โมเดลการฟื้นตัวดังกล่าว โลกจะต้องควบคุมโรคระบาดได้ในเดือน มิ.ย. แต่จะต้องใช้เวลาอีกระยะก่อนผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจที่การใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงไม่ฟื้นตัวโดยง่าย เนื่องจากธุรกิจยังไม่สามารถดำเนินการได้เต็มประสิทธิภาพ ทั้งยังมี “ผู้ว่างงาน” จำนวนมาก สิ่งเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจซบเซานานไปอย่างน้อยถึงสิ้นปี 2020

ในกรณีที่สถานการณ์ “เลวร้ายที่สุด” มาตรการควบคุมโรคยังคงถูกบังคับใช้นานเกินกว่าเดือน มิ.ย. ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจถดถอยยาวนานยิ่งขึ้น จะเป็นการฟื้นตัวรูปแบบตัว “แอล” (L) คือใช้เวลายาวนานมาก เพราะผู้คนยังไม่กล้าจับจ่ายจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้การผิดนัดชำระหนี้และการล้มละลายของภาคธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโดยเร็ว เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็อาจส่งผลร้าย นักวิชาการจากราชวิทยาลัยลอนดอน เตือนว่า การผ่อนคลายมาตรการอาจทำให้โรคระบาดกลับมาอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวเป็นรูปแบบตัว “ดับเบิลยู” (W) โดยเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวเหวี่ยงกลับสู่ภาวะถดถอยอีกครั้งอย่างรุนแรง กลายเป็นภาวะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่กินเวลายาวนานกว่าเดิม


“บรูซ คาสแมน” นักเศรษฐศาสตร์ของเจพี มอร์แกน เชส ระบุว่า “ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างการแพร่ระบาดของไวรัส ประสิทธิภาพในการควบคุมไวรัส นโยบายด้านเศรษฐกิจภาครัฐ และพฤติกรรมของภาคเอกชน ทำให้เกิดความไม่แน่นอนอย่างมากในเส้นทางข้างหน้า”