ชาวจีนกระหน่ำเที่ยว-ใช้จ่าย สัญญาณเศรษฐกิจเริ่ม “ฟื้นชีพ”

ชาวจีนกระหน่ำเที่ยว-ใช้จ่าย สัญญาณเศรษฐกิจเริ่มฟื้นชีพ
File Photo REUTERS/Carlos Garcia Rawlins
คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
โดย นงนุช สิงหเดชะ

กล่าวได้ว่าการระบาดอย่างร้ายแรงของไวรัสมรณะ โควิด-19 ก่อให้เกิดภาพตัดกันระหว่าง จีน ในฐานะยักษ์ใหญ่เศรษฐกิจของเอเชียกับซีก อเมริกา และ ยุโรป โดยจีนซึ่งเคยเป็นจุดศูนย์กลางการระบาดจนต้องปิดเมืองนาน 2 เดือน มาบัดนี้เริ่มจะออกเดินได้ช้า ๆ ท้องถนนเริ่มมีชีวิตชีวา ผู้คนเริ่มออกมาทำงาน หรือทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน

ต่างจากอเมริกาและยุโรป ส่วนใหญ่ที่สถานการณ์ยังหนักหนาสาหัส ส่วนใหญ่ยังต้องล็อกดาวน์ประเทศ หลายเมืองวังเวงเงียบงัน ไม่ต่างจากอู่ฮั่นของจีนในช่วงที่เริ่มปิดเมือง

โทรทัศน์ตะวันตกเริ่มเปรียบเทียบภาพท้องถนนในปารีส ลอนดอน โรม และอีกหลายเมืองของสหรัฐกับภาพของเมืองอู่ฮั่นในมณฑลหูเป่ย์ ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางระบาดไวรัสที่รัฐบาลอนุญาตให้เปิดเมืองอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 8 เมษายน หลังจากเริ่มเปิดบางส่วนไปเมื่อวันที่ 28 มีนาคม

ก่อนหน้านี้มีผู้คาดหมายไว้แล้วว่า ทันใดที่รัฐบาลจีนผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง คนจีนที่อั้นมานานเพราะถูกกักตัวในบ้าน จะออกมาใช้จ่ายและท่องเที่ยวเพื่อชดเชย ซึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นอย่างนั้นจริง แม้ว่าระดับการใช้จ่ายจะไม่มากเท่ากับช่วงก่อนการระบาดของไวรัสก็ตาม

ตามข้อมูลของ Trip.com.Group ซึ่งเป็นเว็บไซต์จองตั๋วใหญ่ที่สุดของจีน ระบุว่า การจองตั๋วด้านการคมนาคมเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% การจองโรงแรม เพิ่มขึ้นประมาณ 60% ในช่วง 3 วัน ของเทศกาลเช็งเม้ง ส่วนค้าปลีกออนไลน์มียอดขายเพิ่มขึ้นก่อนหน้านั้นแล้ว เช่น ยอดขายเครื่องสำอางผู้ผลิตรายใหญ่อย่าง หลิน ฉิงชวน ในเซี่ยงไฮ้เพิ่มขึ้น 147% ในช่วงต้นเดือนมีนาคม

เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซอย่าง Pinduoduo ก็มีคำสั่งซื้อประมาณ 50 ล้านคำสั่งต่อวัน ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม หรือเพิ่มขึ้น 60% สะท้อนให้เห็นการฟื้นตัวของตลาดค้าปลีกในประเทศ ขณะที่เว็บไซต์ Fanli.com ก็บอกว่า การบริโภคอาหารทั่วประเทศขยายตัวแข็งแกร่ง 24%

ทั้งนี้ นอกเหนือจากสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันแล้ว ยอดขายสินค้าอื่นอย่างเครื่องแต่งกาย อุปกรณ์กลางแจ้ง ล้วนขายดี

เหวินหลี่ เจิ้ง ผู้จัดการการเงินของบริษัท ให้บริการการลงทุน T.Rowe Price ในฮ่องกง ชี้ว่า หลังการระบาดของไวรัสเศรษฐกิจจีนอาจฟื้นตัวก่อนใคร เพราะมาตรการรักษาระยะห่างที่ยังคงมีอยู่ และการทำงานจากที่บ้านจะกระตุ้นการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ การระบาดของไวรัสส่งผลกระทบต่อความต้องการในระยะสั้นเท่านั้น ไม่กระทบต่อความต้องการระยะกลาง เห็นได้จากสินค้าฮาร์ดแวร์ไอที สินค้าปรับปรุงตกแต่งบ้าน ยานยนต์และผลิตภัณฑ์กีฬา-ออกกำลังกาย ยังเป็นที่ต้องการ เชื่อว่า ความต้องการที่ถูกอั้นไว้นานจะถูกปลดปล่อยออกมาและช่วยให้ยอดขายเติบโตในอีกหลายไตรมาสข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม เกิดคำถามว่า การซื้อของคนจีนจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์หลายคนประเมินว่า เศรษฐกิจจีนอาจติดลบ 5.1% ในไตรมาส 1 ถือเป็นครั้งแรก นับจากปี 1976 ที่เศรษฐกิจจีนติดลบในไตรมาสแรก ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนประเมินว่า เศรษฐกิจจีนน่าจะดีดตัวกลับมาในไตรมาส 2 ถึงแม้จะเกิดคำถามว่าการฟื้นตัวจะแข็งแกร่งแค่ไหน ในขณะที่ส่วนอื่น ๆ ของโลกยังต้องดิ้นรนเพื่อควบคุมการระบาดของไวรัส

นักวิเคราะห์ของ ซิติค ซีเคียวริตี้ส์ บอกว่า รัฐบาลจีนตกอยู่ใต้แรงกดดันอย่างหนักเพื่อทำให้การว่างงานไม่เลวร้ายไปกว่านี้ ดังนั้น ผลงานเศรษฐกิจไตรมาส 2 จึงสำคัญมากสำหรับรัฐบาลเพื่อดึงให้เศรษฐกิจกลับมาอยู่บนรางได้ดังเดิม ส่วนไตรมาส 3 และ 4 เป็นไปได้ที่จะสามารถขยายตัวในระดับปกติ คือ 6% หรือสูงกว่านั้นเพราะรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายอย่าง

ก่อนหน้านี้ เฉิน ยู่หลู รองผู้ว่าการธนาคารกลางจีน ระบุว่า คาดว่าไตรมาส 2 ตัวชี้วัดเศรษฐกิจจีนจะปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อัตราเติบโตจะกลับไปสู่ระดับเต็มศักยภาพอย่างรวดเร็ว