“ผู้นำอาเซียน” เปิดประชุมทางไกล เน้นย้ำ “ร่วมมือ-คุมโรค-รักษาการค้า” ทางรอดโควิด-19

การประชุมสุดยอดอาเซียนสมัยพิเศษว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ “โควิด-19” ในวันนี้ (14 เม.ย.) โดยมีนายกรัฐมนตรี เหวียน ชวน ฟุก แห่งเวียดนาม ในฐานะประธานอาเซียน เป็นผู้นำการประชุม โดยผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศได้ร่วมประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูล เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศ และมาตรการที่รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ใช้เพื่อควบคุมโรคระบาดและบรรเทาผลกระทบ

นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง แห่งสิงคโปร์ที่แนะนำให้ ประเทศอาเซียนร่วมมือกันรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดในภูมิภาคด้วยการเชื่อมโยงและบูรณาการร่วมกันอย่างลึกซึ้ง ทั้งการแบ่งปันข้อมูลต่อกัน การรักษาเส้นทางการค้าในภูมิภาค รวมทั้งสร้างความพร้อมต่อการรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจในอนาคต ตามรายงานของเดอะสเตรตส์ไทมส์

ขณะเดียวกัน อาเซียนต้องไม่มองข้ามมาตรการระยะยาว ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจสามารถรอดพ้นวิกฤตไปได้และสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว “ไม่มีใครในอาเซียนจะปลอดภัยอย่างแท้จริง ยกเว้นแต่ว่าทั้งภูมิภาคนั้นจะปลอดภัย เหตุการณ์นี้เป็นวิกฤตสาธารณสุขที่ร้ายแรงที่สุดที่มนุษย์ต้องเผชิญในศตวรรษนี้”

นอกจากนี้ นายลี เซียนลุงยังได้แนะนำให้ผู้นำอาเซียนใช้เทคโนโลยีในการรับมือกับโรคระบาด โดยยกตัวอย่างสิงคโปร์ที่รัฐบาลใช้วิธีการสื่อสารข้อมูลกับประชาชนผ่าน WhatsApp การส่งเสริมการทำงานผ่านแอปพลิเคชัน TraceTogether รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีในการตรวจสอบการปฏิบัติตามคำสั่งกักตัวของผู้มีความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรค

ในแง่เศรษฐกิจนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ระบุว่า การปิดกั้นพรมแดนอย่างสมบูรณ์ไม่เป็นผลดีต่อประเทศสมาชิกในอาเซียน เพราะประเทศต่าง ๆ ยังคงต้องพึ่งพากันสินค้าที่จำเป็นทั้งเวชภัณฑ์และอาหาร “การปิดพรมแดนจะเป็นการกีดกันสินค้าและผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่เราต้องพึ่งพากัน ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของเราและทำให้สถานการณ์การว่างงานย่ำแย่ลง”

ขณะที่จากาตาโพสต์รายงานว่า ประธานาธิบดี โจโก วิโดโด ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความสามัคคีและความเป็นปึกแผ่นของอาเซียน เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ นายโจโก วิโดโดชี้ว่าประเทศสมาชิกต้องเร่งแก้ปัญหา 4 ด้านสำคัญได้แก่ การระงับการแพร่กระจายของโควิด-19 เพิ่มเติม ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกัน ตรวจสอบ และควบคุมอย่างเข้มงวดเพื่อยุติวงจรการแพร่ระบาด ขณะเดียวกันต้องการรักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะการส่งมอบสินค้าอาหารและเวชภัณฑ์

นอกจากนี้ การปกป้องประชาชนในภูมิภาค รวมถึงการแรงงานข้ามชาติที่ติดค้างอยู่ในกลุ่มประเทศสมาชิกเป็นอย่างดี เพราะเป็นกำลังหลักของประชาคมและการดำเนินเศรษฐกิจ และสุดท้ายคือการแสวงหามาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นและฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคโดยเร็วที่สุด

ขณะที่นาย เหวียน ชวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนามในฐานะประธานอาเซียนได้กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการประชุมครั้งนี้ เพื่อสร้างความร่วมมือในกลุ่มประเทศสมาชิกในการรับมือต่อสถานการณ์โรคระบาด อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้ตั้งข้อสังเกตว่า แม้โรคระบาดจะกำลังคุกคามความยั่งยืนและความมั่นคงของประชาคมอาเซียน แต่ในเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ เขาเห็นว่าความร่วมมือและความเป็นปึกแผ่นของชาติสมาชิกมีแนวโน้มที่สดใสขึ้น

นายเหวียน ชวน ฟุกยังเรียกร้องมให้ประเทศสมาชิกเร่งปรับตัวเพื่อการดูแลและปกป้องสุขภาพของประชากร การรักษาความมั่นคงของประเทศ เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว รวมทั้งให้การสนับสนุนต่อกันและกัน โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในอาเซียนยังคงอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ โดยอาเซียนมีจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 สะสมทั่วทั้งภูมิภาคราว 15,000 คนจากจำนวนประชากรทั้งหมดกว่า 650 ล้านคน ซึ่งนับว่ายังอยู่ในระดับต่ำหากเทียบกับภูมิภาคอื่นทั่วโลก

“ตัวเลขเบื้องต้นเช่นนี้อาจทำให้เรามั่นใจ แต่เราไม่ควรประมาทและต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและแน่วแน่ด้วยความตั้งใจที่เข้มแข็งและพร้อมรับมือเป็นอย่างดี” นายกรัฐมนตรีกล่าวพร้อมทั้งระบุว่า การประชุมครั้งนี้จะช่วยให้เกิดการดำเนินมาตรการที่เป็นรูปธรรมที่จะสามารถเอาชนะโควิด-19 ได้

ในการประชุมสุดยอดอาเซียนสมัยพิเศษครั้งนี้ ยังมีการประชุมอาเซียน+3 ซึ่งร่วมการประชุมกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัจจุบันและประสบการณ์การในการรับมือกับโรคระบาดของแต่ละประเทศอีกด้วย