“ขนส่งทางเรือ” ชะงัก กระทบความมั่นคง “อาหารโลก”

FILE PHOTO: Containers are seen at the Yangshan Deep Water Port in Shanghai, China August 6, 2019. REUTERS/Aly Song/File Photo

มาตรการล็อกดาวน์ที่หลายประเทศประกาศใช้เพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ส่งผลให้เศรษฐกิจเกือบทุกภาคส่วนหยุดชะงัก หนึ่งในนั้นคือ “ท่าเรือ” ที่เป็นเส้นเลือดสำคัญในการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ซึ่งการที่ท่าเรือในบางประเทศไม่สามารถดำเนินงานได้เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้การขนส่งสินค้าล่าช้าและเสี่ยงจะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารทั่วโลก

บลูมเบิร์กรายงานว่า ท่าเรือขนส่งสินค้าของหลายประเทศประสบปัญหาจำนวนคนงานที่ลดลงอย่างมาก เป็นผลจากการหยุดงานตามมาตรการล็อกดาวน์ และบางประเทศแรงงานก็หยุดงานประท้วง เนื่องจากกลัวการติดเชื้อไวรัส หลังจากที่คนงานติดเชื้อไวรัสเพิ่มสูงขึ้น

สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้มีสินค้าติดค้างอยู่ตามท่าเรือจำนวนมาก อย่างท่าเรือของ “ฟิลิปปินส์” ที่กำลังประสบปัญหาสินค้าติดค้างจำนวนมาก จากมาตรการล็อกดาวน์ทำให้ไม่สามารถขนถ่ายสินค้าได้

โดยเจ้าหน้าที่ของทางการระบุว่า ท่าเรืออาจต้องปิดเป็นการชั่วคราวเพื่อจัดระเบียบตู้คอนเทนเนอร์จำนวนหลายพันตู้เพื่อกระทำการเคลียร์สินค้า

เช่นเดียวกับ กัวเตมาลา และฮอนดูรัส ประเทศผู้ส่งออกกาแฟรายใหญ่ของโลก ที่มีมาตรการเคอร์ฟิวจำกัดเวลาเปิดทำการของท่าเรือ ทำให้การขนส่งสินค้าล่าช้าออกไป ขณะที่หลายประเทศในแอฟริกาที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารก็ประสบปัญหาแรงงานไม่เพียงพอต่อการขนส่งสินค้าเช่นกัน

ระบบการขนส่งสินค้าของหลายประเทศกำลังประสบปัญหา “คอขวด” หรือการที่สินค้ากระจุกตัวอยู่ที่ท่าเรือ โดยไม่สามารถระบายออกสู่ตลาด ส่งผลให้ร้านค้ามีสินค้าไม่เพียงพอต่อการจำหน่าย โดยเฉพาะสินค้าประเภท “อาหาร” ที่มีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นในเวลานี้ จากความตื่นตระหนกของผู้คนต่อสถานการณ์โรคระบาดจึงนำมาซึ่งภาวะขาดแคลนสินค้าและส่งผลทำให้ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นด้วย

การหยุดชะงักของท่าเรือยังส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การขนส่งสินค้าประเภทอาหารไปทั่วโลก เช่นที่ “อินเดีย” ซึ่งเป็นแหล่งแปรรูปอาหารสำคัญของโลก การล็อกดาวน์ประเทศเป็นเวลา 21 วันของรัฐบาลอินเดีย

โดยมาตรการดังกล่าวของอินเดีย กำลังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมแปรรูปอาหารจำนวนมาก อย่างการแปรรูปข้าวสาลีจากยุโรปเป็น “ขนมปังนาน” (Naan) หรือขนมปังแบบอินเดีย เพื่อส่งไปจำหน่ายที่สหรัฐอเมริกา ต้องสะดุดหรือบริษัทอาหารแช่แข็งสหรัฐ “แซฟฟรอน โรด” ซึ่งนำเข้าสินค้าแช่แข็งจำนวนมากจากอินเดีย ก็เป็นหนึ่งในผู้ได้รับกระทบจากการหยุดงาน

บางส่วนของท่าเรือในอินเดีย โดย “อัดนัน ดูร์รานี” ซีอีโอของแซฟฟรอน โรดระบุว่า บริษัทอาจต้องมองหาแหล่งสินค้าจากประเทศอื่น ๆ เพื่อทดแทนอินเดีย

ปัญหาท่าเรือจึงเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการ “ขาดแคลนอาหารทั่วโลก” เนื่องจากหลายประเทศต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหาร ขณะที่ประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารรายใหญ่ของโลกมีเพียงไม่กี่ราย เช่น ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก 4 ราย ได้แก่ อินเดีย ไทย เวียดนาม และปากีสถาน มีปริมาณการส่งออกสูงถึง 70% ของการส่งออกข้าวทั่วโลก

ดังนั้น หากประเทศเหล่านี้ไม่สามารถส่งออกได้ก็จะส่งผลกระทบไปทั่วโลก และปัญหาที่สินค้าประเภทอาหารติดค้างที่ท่าเรือจำนวนมาก ก็ทำให้ผู้ผลิตอาหารไม่สามารถส่งออกได้ด้วย

รวมทั้งปัญหาจากความต้องการสินค้าทั่วไปที่ลดลงทั่วโลก ทำให้บริษัทเดินเรือลดรอบการขนส่งสินค้าลงด้วย ซึ่งผู้ส่งออกสินค้าอาหารต้องรอให้สินค้าเพียงพอต่อการขนส่งที่คุ้มทุนของบริษัทผู้ขนส่ง อย่างเช่น ท่าเรือลอสแองเจลิสของสหรัฐ ที่มีเรือขนส่งสินค้าลดลงถึง 30%

นอกจากนี้ ปัญหา “ตู้คอนเทนเนอร์” จำนวนมากยังไม่ได้มีการเคลียร์สินค้าเดิมออก เพราะพนักงานท่าเรือไม่เพียงพอ ทำให้กระบวนการขนส่งสินค้าใช้เวลานานขึ้น ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดแคลนอาหารในหลายพื้นที่ของโลก

ขณะที่หลายประเทศเร่งแก้ปัญหาอย่างใน “จีน” ที่ก่อนหน้านี้ท่าเรือหลักเต็มไปด้วยตู้คอนเทนเนอร์บรรจุเนื้อสัตว์แช่แข็งที่ไม่ได้รับการขนย้ายออกจากท่าเรือ เนื่องจากจำนวนคนงานที่ลดลง และการปิดกั้นเส้นทางขนส่งทั่วประเทศ แต่ปัจจุบันสถานการณ์โรคระบาดของจีนได้คลี่คลายและท่าเรือหลายแห่งได้กลับมาเปิดทำการและเร่งเคลียร์สินค้าอีกครั้ง

รวมทั้ง “บราซิล” ผู้ส่งออกหลักของโลกทั้งถั่วเหลือง เนื้อวัว กาแฟ และน้ำตาล ก็กำลังแก้ปัญหาเพื่อให้การส่งออกสินค้าทางเรือ สามารถดำเนินต่อไปได้ตามปกติ โดยรัฐบาลได้เข้ามาสนับสนุนแรงงานท่าเรือให้ยังคงปฏิบัติงานเช่นเดิม ขณะที่หลายบริษัทขนส่งก็เพิ่มจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้า

“เซร์คิโอ เมนเดส” (Sergio Mendes) ประธานกลุ่ม Anec ผู้ส่งออกสินค้าธัญพืชรายใหญ่ของบราซิลระบุว่า “ปริมาณสินค้าส่งออกของบราซิลมีจำนวนมหาศาล ดังนั้นต้องเร่งแก้ปัญหาให้ได้อย่างรวดเร็ว ไม่เช่นนั้นอาจนำไปสู่ปัญหาคอขวดในการขนส่งสินค้าทั่วโลกได้”

ขณะที่สถานการณ์โรคระบาดยังคงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องทั่วโลก หลายพื้นที่อย่างสิงคโปร์และฮ่องกง ยังไม่อนุญาตให้มีการถ่ายโอนลูกเรือที่ท่าเรือ ขณะที่ท่าเรือหลายประเทศก็พบคนงานติดเชื้อต้องถูกกักตัว ทำให้การขนส่งทางเรือยังไม่สามารถดำเนินการได้เต็มประสิทธิภาพ และยังคงใช้เวลาอีกนานกว่าสถานการณ์เหล่านี้จะคลี่คลายไปพร้อมการจางหายไปของโรคระบาด