ธุรกิจแห่ใช้ “ข้อมูลทางเลือก” เทรนด์ใหม่ที่มากับ “โควิด-19”

ธุรกิจแห่ใช้ข้อมูลทางเลือก เทรนด์ใหม่ที่มากับโควิด-19
File Photo REUTERS/Axel Schmidt

การพัฒนาด้านเทคโนโลยีส่งผลให้การใช้งาน “ข้อมูลทางเลือก” (alternative data) เพื่อการวางแผนธุรกิจหรือวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจเริ่มเป็นที่นิยม จากความหลากหลายและรวดเร็วของข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล พฤติกรรมผู้บริโภค การเดินทาง รวมถึงข้อมูลธุรกรรมต่าง ๆ อีกมากมาย จากแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยพบว่าการใช้งานข้อมูลทางเลือกเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 จากความรวดเร็วและแม่นยำในการประเมินผลกระทบจากโควิด-19 มากกว่าข้อมูลกระแสหลัก เช่น ตัวเลขจีดีพี หรือรายงานผลดำเนินการบริษัท

ทั้งนี้ การใช้ข้อมูลทางเลือกเพื่อวางแผนทางธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน “ธุรกิจการเงิน” เกิดขึ้นมาก่อนหน้าระดับหนึ่งแล้ว โดยบลูมเบิร์กรายงานว่า “ไดมอนด์ เอเชีย แคปปิตัล” กองทุน

เฮดจ์ฟันด์จากสิงคโปร์ บริหารงานโดย “แดนนี่ หย่ง” ได้วิเคราะห์ข้อมูลทางเลือก อย่างปริมาณการเสิร์ชข้อมูลในกูเกิลของชาวสหรัฐ และการบริโภคข้อมูลข่าวของชาวจีน ที่เกี่ยวกับการระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้

“แดนนี่ หย่ง” สรุปว่า “ตลาดหุ้นได้ประเมินผลกระทบจากไวรัสวิด-19 ต่ำเกินไป” เขาจึงได้ทำการเปิดสถานะชอร์ตตลาดหุ้นสหรัฐและจีน ซึ่งสร้างผลตอบแทนให้กับกองทุนมากกว่า 40% ส่งผลให้กองทุนของเขากลายเป็นกองทุนที่มีผลการดำเนินงานดีที่สุดระหว่างเดือน ก.พ. และ มี.ค. 2020

อย่างไรก็ตาม การระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลให้ความต้องการใช้ข้อมูลทางเลือกของผู้จัดการกองทุนพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากนักลงทุนรายใหญ่มองว่า ข้อมูลเหล่านี้สามารถทำนายภาวะเศรษฐกิจได้แม่นยำและรวดเร็วกว่าข้อมูลกระแสหลักจากทางการ ซึ่งมีความล่าช้าและยังอาจถูกบิดเบือนได้ เช่น ตัวเลขการว่างงาน, อัตราการเติบโตของจีดีพี และรายงานผลกำไรของบริษัท เป็นต้น

“ฮีเธอร์ หวง” ผู้ก่อตั้ง “เมเชอร์เอเบิล เอไอ” บริษัทบิ๊กดาต้า วิเคราะห์รายได้ของธุรกิจต่าง ๆ ด้วยข้อมูลทางเลือกระบุว่า ปัจจุบันความต้องการ “ข้อมูลทางเลือก” ที่เกี่ยวข้องกับจีนมีสูงมาก เนื่องจากนักลงทุนสถาบันต่าง ๆ ต้องการประเมินการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน หลังจากการควบคุมโรคระบาดได้ โดยเฉพาะความต้องการจากกองทุนเฮดจ์ฟันด์ และเวนเจอร์แคปปิทัล

สืบเนื่องจากสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่อุปทานการผลิตโลก ยังทำให้ความต้องการใช้งาน “ข้อมูลทางเลือก” ของอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอีกด้วย

โดย “เจมส์ ครอว์ฟอร์ด” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ “ออร์บิทอล อินไซต์” ธุรกิจบิ๊กดาต้าที่เก็บข้อมูลเกือบทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนพื้นโลกผ่านดาวเทียม, โดรน และบอลลูน ระบุว่า ลูกค้าของบริษัทที่เกี่ยวเนื่องกับระบบห่วงโซ่อุปทานโลกได้มีการร้องขอข้อมูล เช่น ตำแหน่งของเรือขนส่งสินค้า, เวลาที่โรงงานปิดตัว รวมถึงจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางด้วยเครื่องบิน และช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า ความต้องการข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับร้านขายของชำ, ผู้ค้าส่ง รวมถึงศูนย์กระจายสินค้า เกี่ยวกับอาหารและอุปกรณ์ทางการแพทย์ยังพุ่งสูงขึ้นกว่า 2 เท่า

“ครอว์ฟอร์ด” กล่าวทิ้งท้ายว่า “ผู้จัดการด้านซัพพลายเชนและเจ้าหน้าที่รัฐบาลได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้”

การใช้ข้อมูลทางเลือกกำลังขยายขอบเขตกว้างขึ้น จากมาตรการ “เว้นระยะห่างทางสังคม” และข้อจำกัดต่าง ๆ ส่งผลให้ดีลการซื้อขายธุรกิจ ซึ่งจำเป็นต้องมีการตรวจสอบทรัพย์สิน (physical due diligence) เพื่อประเมินมูลค่า อย่างกรณีบริษัท “เอนเดฟเวอร์ ไมนิ่ง คอร์ป” ได้ยกเลิกการเข้าซื้อเหมืองทองมูลค่า 690 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เนื่องจากไม่สามารถไปดูสถานที่จริงเพื่อประเมินมูลค่าได้ ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีการนำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหา โดยบลูมเบิร์กรายงานว่า “โคตี้ อิงก์” บริษัทด้านความงามจากสหรัฐ ได้ใช้โดรนเพื่อสำรวจและประเมินโรงงานกับข้อมูลต่าง ๆ ที่จะทำการซื้อมูลค่าหลักพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม การใช้ “ข้อมูลทางเลือก” ที่หลายฝ่ายมองว่ามีความรวดเร็วและแม่นยำ ซึ่งจะสร้างประโยชน์อย่างมหาศาลต่อภาคธุรกิจในอนาคต อาจจำเป็นต้องมีการออกกฎเกณฑ์อีกมากเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดความเป็นส่วนบุคคลอีกด้วย