พลิกการศึกษา ‘อินเดีย’ 300 ล้านคน เรียนออนไลน์ หนุนปฏิรูป-ลดเหลื่อมล้ำ

การศึกษาออนไลน์
File Photo REUTERS/Muhammad Hamed

มาตรการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้รูปแบบการใช้ชีวิตของประชาชนทั่วโลกเปลี่ยนไป รวมถึงกลุ่มนักเรียนและนักศึกษาซึ่งถูกกระทบจากการปิดสถาบันการศึกษาเพื่อจำกัดการระบาด

ซีเอ็นเอ็นรายงานอ้างอิงข้อมูลจากองค์การยูเนสโก ระบุว่า มีจำนวนนักเรียนและนักศึกษากว่า 1,500 ล้านคน จาก 193 ประเทศทั่วโลก ที่ไม่สามารถไปเรียนได้จากการปิดสถาบันการศึกษาเพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งจากผลกระทบดังกล่าวทำให้สถาบันการศึกษาต่าง ๆ จำเป็นต้องหันมาเปิดการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ รวมถึงสตาร์ตอัพที่เริ่มหันมาเสนอบริการคอร์สสอนออนไลน์โดยไม่เก็บค่าบริการ เพื่อตอบสนองต่อดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นอย่างสูงในช่วงวิกฤตโรคระบาด

“อินเดีย” เป็นอีกประเทศที่สั่งปิดสถาบันการศึกษาจากมาตรการล็อกดาวน์เมื่อปลาย มี.ค. ซึ่งส่งผลกระทบต่อนักเรียนนักศึกษาราว 300 ล้านคน อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมการศึกษาออนไลน์ของอินเดียมีแนวโน้มเติบโตแบบก้าวกระโดดอยู่แล้ว จากจำนวนประชากรวัยเรียนจำนวนมากของประเทศ ทั้งนี้ “กูเกิล” และ “เคพีเอ็มจี” เคยคาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมการศึกษาออนไลน์ในอินเดียจะเติบโตสู่ระดับ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2021 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเพียง 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี 2016 ซึ่งตัวเลขคาดการณ์นี้จะต้องถูกปรับเพิ่มขึ้นอีกมาก

สำหรับบริษัท “สตาร์ตอัพ” การสอนออนไลน์ของอินเดียอย่าง BYJU’s  เปิดเผยว่า จำนวนผู้ใช้บริการของแอปพลิเคชั่นเพิ่มขึ้นกว่า 60% นับจาก มี.ค. 2020 นอกจากนี้ยังมีอีกหลายแพลตฟอร์มที่มีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น แม้ว่าการเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการเปิดคอร์สออนไลน์แบบไม่เก็บค่าบริการเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากการระบาด

อย่างไรก็ตาม “ไบจู ราวีนเดรน” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัทสตาร์ตอัพแห่งนี้ชี้ว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นปัจจัยกระตุ้นความต้องการการศึกษาออนไลน์ ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการการศึกษาอินเดีย พฤติกรรมการเรียนของนักเรียน และการสอนของครูจะหันมาอิงกับการศึกษาออนไลน์เกือบทั้งหมด 

ขณะที่ “อนันธา ดูไรอัพพา” ผู้อำนวยการสถาบันสันติศึกษาและการพัฒนาที่ยั่งยืนมหาตมะคานธีขององค์การยูเนสโก ระบุว่า การศึกษาออนไลน์จะส่งเสริมการเรียนรู้แบบ “เอกัตภาพ” ที่คำนึงถึงศักยภาพรายบุคคล ซึ่งจะเป็นการปฏิรูประบบการศึกษาแบบเก่าของอินเดียที่มีอายุเกือบ 300 ปี

รูปแบบการศึกษาออนไลน์ยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของอินเดียอีกด้วย ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติอินเดีย (เอ็นเอสเอสโอ) ระบุว่า กลุ่มคนรวยที่สุด 5% ของประเทศได้ใช้จ่ายทางการศึกษามากกว่าประชากรที่เหลือของประเทศถึง 29 เท่า ขณะที่ปัจจุบันประชากรมากกว่า 50% ของประเทศสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากเมื่อปี 2015 ที่มีผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพียง 25% หลายฝ่ายจึงหวังว่าการศึกษาออนไลน์จะช่วยเพิ่มช่องทางการเข้าถึงการสอนที่มีประสิทธิภาพแก่ชาวอินเดีย เพราะพบว่าผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มของ BYJU’s มากกว่า 60% เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ตามชนบทของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ไบจู ราวีนเดรน ชี้ว่า การลดความเหลื่อมล้ำยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก เพราะปัจจุบันยังมีชาวอินเดียอีกหลายล้านคนที่ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนออนไลน์ เนื่องจากไม่มีแล็ปทอป และการเสนอคอร์สเรียนฟรี เป็นสิ่งที่สตาร์ตอัพด้านการศึกษาควรทำ แม้ว่าจะกระทบกับรายได้ในระยะสั้น แต่ก็จะเป็นประโยชน์และโอกาสในระยะยาวกับธุรกิจและสังคม จากการที่ทำให้ประชาชนคุ้นชินกับการศึกษาออนไลน์มากขึ้น ที่จะทำให้มีผู้ใช้บริการมากขึ้นในอนาคต