ไวรัสพ่นพิษ “เน็ตคาเฟ่เรฟูจี” ปัญหาใต้พรม “คนไร้บ้าน” ญี่ปุ่น

แฟ้มภาพ ผู้คนสวมหน้ากากป้องกัน ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (เอเอฟพี)

สังคมเมืองของญี่ปุ่นที่ขยายตัวจนราคาที่พักอาศัยในเมืองใหญ่พุ่งสูงจนทำให้เกิดคนกลุ่มใหม่ที่เรียกว่า “เน็ตคาเฟ่เรฟูจี” ที่อาศัยร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ หรือร้านการ์ตูนที่เปิดให้บริการ 24 ชม. เป็นที่พัก แต่คนกลุ่มนี้กำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ “โควิด-19”

เอเอฟพี รายงานว่า การประกาศภาวะฉุกเฉินโดยรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา ในกรุงโตเกียวและอีก 6 จังหวัด ส่งผลให้ห้างร้านต่าง ๆ จำนวนมากต้องปิดให้บริการ รวมถึงร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่และร้านมังงะคาเฟ่

ตามปกติแล้วร้านเหล่านี้จะเปิดให้บริการ 24 ชม. พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ เครื่องดื่ม และห้องอาบน้ำ โดยคิดค่าบริการราว 2,000 เยน/คืน โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นแหล่งบันเทิงและรองรับคนที่ต้องทำงานดึกและหาที่พักชั่วคราว

แต่ร้านคาเฟ่เหล่านี้ได้กลายเป็นแหล่งพักพิงของ “เน็ตคาเฟ่เรฟูจี” ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่มีที่พักเป็นหลักแหล่ง แต่อาศัยพักแรมตามร้านเหล่านั้น โดยคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ทำงานในเมืองใหญ่ แต่รายได้ไม่พอที่จะซื้อหรือเช่าที่พักอาศัย

“ซึโยชิ อินาบะ” นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโตเกียวประมาณการว่า ในโตเกียวมีเน็ตคาเฟ่เรฟูจีอยู่ราว 4,000 คน รวมกับคนไร้บ้านทั่วไปอีก 2,000 คน ซึ่งกำลังได้รับผลกระทบจากการประกาศภาวะฉุกเฉินของรัฐบาลญี่ปุ่น

เนื่องจากคนเหล่านี้ไม่มีที่พักอาศัยจากการปิดให้บริการของร้านคาเฟ่ ทำให้ต้องเร่ร่อนตามสถานที่สาธารณะ และยังไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ทำให้ขาดรายได้ ซึ่งนอกจากจะเป็นกลุ่มคนที่เสี่ยงติดเชื้อไวรัสสูงแล้ว ยังมีความเครียดที่อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้หลายหน่วยงานได้ให้การช่วยเหลือแล้ว อย่างจังหวัดคานางาวะได้จัดพื้นที่ของโรงยิมยูโด ให้เป็นที่พักชั่วคราวให้กับคนไร้บ้าน ซึ่งเปิดให้บริการในวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา

ขณะที่โตเกียวก็เร่งจัดหาสถานที่พักอาศัยให้กับคนไร้บ้าน แต่ยังคงไม่เพียงพอและยังมีข้อจำกัดที่ยุ่งยาก อย่างเช่น ผู้ต้องการเข้าพักจะต้องพิสูจน์ได้ว่าตนเองอาศัยอยู่ในโตเกียวมาเป็นเวลามากกว่า 6 เดือนขึ้นไป

อินาบะระบุว่า การเกิดขึ้นของเน็ตคาเฟ่เรฟูจี เป็นผลจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่กลับมาเติบโตจากช่วงทศวรรษ 1990 ซึ่งทำให้เกิดตำแหน่งงานจำนวนมากตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ แต่เป็นงานชั่วคราวที่ไม่มีความมั่นคง ก่อให้เกิดผู้ยากไร้รูปแบบใหม่ที่มีงานทำ แต่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในเมืองใหญ่

ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นไม่เคยแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง จนเป็นปัญหาที่ซุกไว้ใต้พรมมายาวนาน และกลายเป็นปัญหาใหญ่ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ซึ่งหากความช่วยเหลือต่อคนกลุ่มนี้ไม่เพียงพอ อาจทำให้คนกลุ่มนี้ต้องเดินทางออกไปต่างจังหวัดโดยไม่มีทางเลือก ซึ่งจะนำไปสู่การแพร่กระจายเชื้อไวรัสเพิ่มสูงขึ้นทั่วประเทศญี่ปุ่น