ทำความเข้าใจ “ราคาน้ำมันดิบสหรัฐฯ ติดลบครั้งแรกในประวัติศาสตร์”

เช้านี้หลายคนเปิดโทรศัพท์มือถือมาเช็กข่าวแล้วอาจตกใจเล็กน้อย เมื่อเจอหลายสื่อพาดหัวข่าวชวนตกใจ “ราคาน้ำมันดิบสหรัฐฯ ติดลบครั้งแรกในประวัติศาสตร์”

ราคาน้ำมันดิบสหรัฐฯ ร่วงหนักขนาดนี้ ส่งผลต่อเราๆ ที่ใช้รถใช้ถนนกันอย่างไร ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน “การซื้อขายในตลาดล่วงหน้า” (Oil Future Market) ซึ่งเป็นการซื้อขายสัญญากระดาษ ที่ใช้น้ำมันดิบเป็นสินทรัพย์อ้างอิง

แน่นอนว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับ “นักลงทุน” มากกว่า

เมื่อวันที่ 20 เมษายน ตามเวลาสหรัฐฯ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์ก ส่งมอบเดือนพฤษภาคม ร่วงลง 55.90 เหรียญสหรัฐฯ หรือ 306% ปิดที่ -37.63 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล

หมายความว่า หากเราซื้อน้ำมันดิบสหรัฐฯ ในขณะนั้น เราจะได้ทั้งน้ำมัน 1 บาร์เรล และ เงินฟรี ๆ อีก 37.63 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1,222.22 บาท)

ส่วนสาเหตุที่ราคาน้ำมันปรับลดลงมโหฬารขนาดนั้น เกิดจากปัจจัยหลายข้อ ทั้งปริมาณน้ำมันล้นตลาด เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯ ลดลง ประมาณ 20-30%  จากวิกฤตโควิด-19 และ สหรัฐฯ ไม่มีถังเก็บน้ำมันเพียงพอ

ประกอบกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้า WTI ที่กำหนดส่งมอบในเดือนพฤษภาคม จะหมดอายุลงในวันที่ 21 เม.ย.(วันนี้) นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการรับส่งมอบน้ำมันจริง เพราะคงไม่มีใครมีคลังเก็บน้ำมันอยู่ในสวนหลังบ้าน ครั้นจะเอามาใช้เติมรถยนต์ก็ทำไม่ได้ เพราะเป็นน้ำมันดิบ จึงเกิดแรงเทขายอย่างหนัก ทำให้ราคาซื้อขายล่วงหน้าเดือน พ.ค.ลดลง จนติดลบ

อย่างไรก็ตาม “มนูญ ศิริวรรณ” ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน มองว่า สถานการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะต่อมาในช่วงเช้า ราคาน้ำมัน WTI ส่งมอบเดือน มิ.ย.ก็เคลื่อนไหวเหนือระดับ 20 เหรียญสหรัฐฯ / บาร์เรลอีกครั้ง

ขณะที่ราคาน้ำมันขายปลีกของไทย ต้องรอดูทิศทางราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ที่จะปิดตลาดในช่วงเย็นวันนี้ (21 เม.ย) ว่าจะสะท้อนราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ปรับลดลงอย่างไร แต่เชื่อว่าไม่น่าจะมีผลมากนัก