ผู้เชี่ยวชาญชี้ “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ตรวจโควิดน้อย เสี่ยงเป็นจุดระบาด

Antara Foto/Sigid Kurniawan/ via REUTERS

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญสิงคโปร์แสดงความกังวลว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจกลายเป็นศูนย์กลางของการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของโรค โควิด-19 แห่งใหม่ของโลก เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์ คิดเป็นสัดส่วนถึง 87.9% ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดในภูมิภาค

แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรวมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงไม่สูงมากนัก หากเทียบกับภูมิภาคอื่นที่มีจำนวนผู้ป่วยนับแสนรายอย่างในยุโรปและอเมริกา แต่ผลการสำรวจหลายแห่งระบุว่า อัตราการตรวจหาเชื้อที่ต่ำในหลายประเทศ โดยเฉพาะในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ทำให้ไม่สามารถยืนยันตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แท้จริงซึ่งอาจแฝงตัวอยู่หลายหมื่นคนได้

แต่ในกรณีของสิงคโปร์ที่มีการตรวจหาเชื้ออย่างเข้มงวดและมีการรับมือกับโรคระบาดได้เป็นอย่างดี ก็ได้เห็นจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จากการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานต่างชาติที่อาศัยในห้องพักแออัด

“ไซมอน เทย์” ประธานคณะทำงานสถาบันด้านกิจการระหว่างประเทศของสิงคโปร์ระบุว่า “ข้อเท็จจริงคือ มีผู้ป่วยเดินทางเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนมาก” โดยเขาเรียกร้องให้รัฐบาลต่าง ๆ ในอาเซียนเร่งดำเนินการการตรวจหาเชื้ออย่างรวดเร็วเพื่อป้องกันโรคระบาด “เราต้องลงมือทำ ตัวเลขการตรวจหาเชื้อของฟิลิปปินส์และการตรวจหาเชื้อของอินโดนีเซียต่ำเกินไป”

ทั้งนี้ ตัวเลขการตรวจหาเชื้อของประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แตกต่างกันอย่างมาก โดยสิงคโปร์มีอัตราการตรวจหาเชื้อมากถึง 16,203 ครั้งต่อ 1 ล้านคน ขณะที่เมียนมามีการตรวจหาเชื้อเพียง 85 ครั้งต่อ 1 ล้านคน ตามสถิติของเว็บไซต์ Worldometer

แต่ผู้เชี่ยวชาญแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียมากกว่า เนื่องจากทั้งสองประเทศมีจำนวนประชากรมากและมีอัตราการติดเชื้อสูงกว่าประเทศอื่น โดยอินโดนีเซียที่มีประชากรกว่า 270 ล้านคนมากเป็นอันดับ 4 ของโลก แต่มีการตรวจหาเชื้อไปแล้ว 42,000 ครั้ง หรือคิดสัดส่วนเป็น 154 ครั้งต่อ 1 ล้านคน

ขณะที่แบบจำลองสถานการณ์ระบาดในฟิลิปปินส์ชี้ว่า มีจำนวนผู้ติดเชื้อแฝงที่ไม่ได้รับการตรวจหาเชื้อราว 75% หรือราว 15,000 คนจากจำนวนประชากรทั้งประเทศ