“ธุรกิจอินเดีย” ขาดแหล่งทุน รัฐแข่งขายพันธบัตร ดอกเบี้ยสูงกว่าหุ้นกู้

REUTERS/Sivaram V

ภาคธุรกิจอินเดียกำลังเผชิญกับสถานการณ์ความยากลำบากในการหาแหล่งเงินทุนเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ผ่านตลาดตราสารหนี้ เนื่องจากสภาพคล่องที่ตึงตัวตั้งแต่เมื่อปี 2018 รวมทั้งการเร่งเสนอขายพันธบัตรของรัฐท้องถิ่นต่าง ๆ เพื่อหาเงินทุนสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าตลาดตราสารหนี้เอกชน (หุ้นกู้) ของธนาคารกลาง ได้ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้เอกชนต่ำกว่าผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลในหลายรัฐ ซึ่งอาจส่งผลให้นักลงทุนหลีกหนีจากหุ้นกู้และหันมาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลแทน

ทั้งนี้ รัฐท้องถิ่นหลายแห่งมีความต้องการออกพันธบัตรเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับรายได้ของรัฐที่ลดลงจากมาตรการล็อกดาวน์ รวมถึงจัดหาเงินทุนสำหรับมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจที่รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยบลูมเบิร์ก รายงานอ้างอิงข้อมูลจากธนาคารกลางอินเดีย (อาร์บีไอ) ซึ่งคาดว่าความต้องการเสนอขาย “พันธบัตรรัฐบาล” ทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้นถึง 18.2% ในไตรมาส 1/2020 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2019

โดยความต้องการจัดหาเงินทุนที่เพิ่มขึ้นของภาครัฐส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่นพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐที่ขาดดุลงบประมาณมาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งมีความจำเป็นต้องเสนอขายพันธบัตรในอัตราผลตอบแทนที่สูงเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน บทวิเคราะห์จาก “ไอซีไอซีไอ” สถาบันการเงินด้านการลงทุนตลาดตราสารหนี้และตลาดเงินชั้นนำของอินเดีย ชี้ว่า รัฐที่มีสถานะทางการคลังที่อ่อนแอยิ่งจำเป็นต้องเสนอผลตอบแทนที่สูงเพื่อดึงดูดนักลงทุน

อย่างไรก็ตาม ความต้องการเสนอขายพันธบัตรของรัฐท้องถิ่นที่มากขึ้นเพื่อจัดหาเงินทุนเพื่อเยียวยาเศรษฐกิจ ส่งผลให้พันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่นในหลายแห่งมีอัตราผลตอบแทนที่ดีกว่าหุ้นกู้ของเอกชน เช่น ที่รัฐมหาราษฏระ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์กลางทางการเงินอย่างเมืองมุมไบ เพิ่งออกพันธบัตรอายุ 10 ปี เมื่อ 7 เม.ย. 2020 ด้วยผลตอบแทน 7.98% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของหุ้นกู้เอกชนระดับเครดิต AAA อายุ 10 ปีเท่ากัน ถึง 0.44%

นอกจากนี้ ยังมีพันธบัตรรัฐบาลของอีกหลายรัฐที่มีอัตราผลตอบแทนมากกว่าหุ้นกู้เอกชน เช่น รัฐเกรละ ที่ออกพันธบัตรระยะเวลา 10 ปี อัตราผลตอบแทน 8.07% ต่อปี และ รัฐเบงกอลตะวันตก ที่เพิ่งเสนอขายพันธบัตรอายุ 10 ปี ที่ผลตอบแทน 7.49% ต่อปี เป็นต้น

ขณะที่ธนาคารกลางอินเดียยังได้อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบผ่านการซื้อหุ้นกู้เอกชน ซึ่งเป็นมาตรการที่สอดคล้องกับธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลก โดย ดิ อีโคโนมิกส์ ไทมส์ รายงานว่า เมื่อปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา แบงก์ชาติอินเดียประกาศอัดฉีดเม็ดเงินสำหรับซื้อหุ้นกู้เอกชนมูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นมาตรการที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนสำหรับอาร์บีไอ รวมถึงเมื่อ 17 เม.ย. แบงก์ชาติอินเดียยังประกาศว่าอาจจะอัดฉีดเงินอีกราว 6,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าสู่ตลาดหุ้นกู้ เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องและการหาเงินทุนของภาคเอกชน รวมถึงลดต้นทุนของการกู้ยืมของบริษัทต่าง ๆ ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แต่มาตรการของแบงก์ชาติจะยิ่งขยายช่องว่างของผลตอบแทนระหว่างพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ของเอกชนมากขึ้น

จากปรากฏการณ์ที่พันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่นของอินเดียให้ผลตอบแทนมากกว่าหุ้นกู้เอกชน ทั้งที่ความเสี่ยงน้อยกว่า น่าจะส่งผลให้นักลงทุนย้ายเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่พันธบัตรของรัฐบาลท้องถิ่นมากขึ้น โดย “มาโนจ จาจู” หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการลงทุนของ “ภาที แอ๊กซ่า เจนเนอรัล อินชัวแรนซ์” คาดการณ์ว่า บริษัทประกันภัยและกองทุนบำนาญจะโยกเงินลงทุนจำนวนมากจากหุ้นกู้เอกชนมาสู่พันธบัตรรัฐบาลในเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากผลตอบแทนที่สูงกว่า อีกทั้งยังมีสภาพคล่องในตลาดรองมากกว่าหุ้นกู้ รวมถึงสามารถนำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการทำธุรกรรมซื้อคืนของธนาคารกลางได้

ดังนั้น การโยกย้ายเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนออกจากตลาดหุ้นกู้ อาจเป็นการลดประสิทธิผลของเม็ดเงินที่ธนาคารกลางอินเดียได้อัดฉีดเพื่อช่วยสภาพคล่องให้กับภาคเอกชน รวมถึงการปรับลดการลงทุนของภาคเอกชน เพราะภาระต้นทุนการเงินที่พุ่งสูงขึ้นจากการที่ต้องแข่งขันเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนกับรัฐบาลท้องถิ่น และอาจทำให้เกิดภาวะการหักล้างกับเม็ดเงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลท้องถิ่นเอง จึงเท่ากับว่าเม็ดเงินจากการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ของรัฐนั้นสูญเปล่า