เส้นทาง “ชาไข่มุก” เครื่องดื่มท้องถิ่นสู่ปรากฏการณ์ระดับโลก

วันที่ 20 เมษายน 2563 เว็บไซต์ซีเอ็นเอ็น รายงานสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “ชาไข่มุก” เนื่องในวันชาไข่มุกแห่งชาติสหรัฐฯ 30 เมษายน เพื่อฉายภาพเส้นทางเครื่องดื่มท้องถิ่นในไต้หวัน สู่การเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก

ความนิยมชาไข่มุกในระดับโลก

ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า จากการศึกษาล่าสุด มีการคาดการณ์ว่าตลาดชาไข่มุก ที่มีมูลค่าเกือบ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 64,640 ล้านบาท จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 4.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 138,976 ล้านบาท ในปี 2027

ขณะที่คำสั่งซื้อชาไข่มุกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่มขึ้นถึง 3,000% เฉพาะปี 2018 เพียงปีเดียว นอกจากนี้ เครื่องดื่มยอดนิยมดังกล่าวยังขยายไปนอกเอเชีย เช่น เยอรมนี ซึ่งมีการเพิ่มเมนูชาไข่มุกในร้านแมคโดนัลด์ ตั้งแต่ปี 2012

ส่วนที่สิงคโปร์ หลังมีคำสั่งปิดร้านค้าชั่วคราวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปรากฏว่าชาวสิงคโปร์ที่รักความหนึบหนับของตัวไข่มุก ต่างแห่ไปสั่งเมนูโปรดนี้ก่อนที่ร้านจะปิด เพื่อเป็นการทิ้งทวน

และที่สหรัฐฯ จุดกำเนิดของวันชานมไข่มุกแห่งชาติสหรัฐฯ เริ่มจากที่แบรนด์ “กังฟู ที” ร้านขายชาไข่มุกในนิวยอร์ก ยื่นเรื่องไปยังคณะกรรมการ National Day Calendar เพื่อขอกำหนดให้วันที่ 30 เมษายน เป็นวันชานมไข่มุกแห่งชาติ

ต้นกำเนิดชาไข่มุก

เรื่องราวของชาไข่มุกสามารถสืบย้อนหลังไปได้ถึงยุค 1940 โดยหลังจากทำงานเป็นคนชงเหล้าที่ร้านเหล้าญี่ปุ่นในไต้หวัน เมื่อปี 1949 “ชาง ฟ่าน ชู” ได้เปิดร้านชาเขย่าขึ้นแห่งหนึ่ง จนได้เมนูชาเย็นที่มีฟองละเอียดอยู่ด้านบน

ปัจจุบัน ชาเขย่าก็ถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของชาไข่มุก เรียกได้ว่าถ้าไม่มีชาเขย่าเกิดขึ้น เราก็คงไม่ได้รู้จักชาไข่มุก

ชาเขย่าถือเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมชาในขณะนั้น เพราะไม่เพียงแต่จะทำให้คนหันมากินชาเย็น ยังทำให้คนหันมากินอาหารและเครื่องดื่มเพื่อความเพลิดเพลินด้วย จนกลายเป็นกระแสในช่วงหลังสงครามไต้หวัน และในอีกไม่กี่ปีต่อมา ความหลงไหลในเครื่องดื่มเย็นบนเกาะไต้หวันก็ยิ่งทวีมากขึ้น

“เซง ผิน ซาน” นักประวัติศาสตร์อาหารไต้หวัน เผยว่า กระแสดื่มชาได้รับความนิยมไปพร้อม ๆ กับกระแสการรับประทานอาหารเพื่อความผ่อนคลายในยุค 1980 ซึ่งเป็นช่วงที่ไต้หวันมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว

“นอกจากผลิตภัณฑ์ชาบรรจุสำเร็จ ยังมีร้านชาจำนวนมากผุดตามท้องถนนและนอกเมืองด้วย” นักประวัติศาตร์อาหารไต้หวันกล่าว

ในปี 1986 “ตู้ ซง” ศิลปินและนักธุรกิจชาวไต้หวัน ตัดสินใจเริ่มต้นธุรกิจใหม่โดยโหนกระแสไปกับร้านชา หลังจากเจ็บตัวจากการเปิดร้านอาหารประเภทหม้อต้ม จนกลายเป็นหนี้นับ 4 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน

“ผมไปเดินในตลาดเมืองไถหนัน แล้วไปเจอขนมเฟิ่นเหยียน ซึ่งเป็นของโปรดของผมตั้งแต่เด็ก ผมเลยคิดว่าทำไมไม่ลองใส่ขนมเฟิ่นเหยียนลงในชาเขียวหล่ะ เพราะขนมชนิดนี้มีลักษณะเกือบโปร่งแสง เมื่อนำไปต้มกับชาเขียว มันน่าจะมีหน้าตาเหมือนกับสร้อยมุกของแม่ผมนะ”

จึงเป็นที่มาของ ชาเขียวไข่มุก

หลังจากนั้น “ตู้ ซง” ก็ทดลองใส่อะไรต่อมิอะไรลงไปในชา เช่น นำเม็ดแป้งมันสำปะหลังไปใส่ในชานม เพื่อเพิ่มความเข้มข้นและความหนึบหนับ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นชานมไข่มุกยอดนิยมทั่วโลก

“ตู้ ซง” อธิบายว่า ด้วยความที่เม็ดไข่มุกใหญ่กว่าหลอดที่มีอยู่ในท้องตลาด ลูกค้าของเราจึงต้องการช้อนเพื่อตักเม็ดไข่มุก เราจึงต้องทำงานร่วมกับโรงงานพลาสติกเพื่อผลิตหลอดกินชาไข่มุกโดยเฉพาะ

“ตู้ ซง” เปิดร้านชาไข่มุกร้านแรกชื่อ “ฮั่นหลิน” เมื่อเดือนตุลาคม 1986

เขาเล่าว่า “ต่อมาชาไข่มุกก็ได้กลายเป็นเมนูขายดีในตลาด สร้างยอดขายให้กับร้านชา จนทำให้ผมปลดหนี้ได้”

ตอนนี้ร้าน “ฮั่นหลิน” มีทั้งหมด 80 สาขาทั่วไต้หวัน และมีแฟรนไชส์ในสหรัฐฯ แคนาดา รวมถึงจีนแผ่นดินใหญ่

แต่เรื่องราวกลับซับซ้อนเข้าไปอีก เมื่อ “ตู้ ซง” ไม่ใช่เพียงคนเดียวที่อ้างว่าเป็นผู้คิดค้น “ชาไข่มุก”

“หลิน ชิ่ว ฮุย” ผู้จัดการร้านชาไข่มุก “ชุนสุ่ยถัง” อ้างว่า เธอเป็นผู้คิดค้นชานมไข่มุก ระหว่างร่วมการประชุม เมื่อปี 1988

ตอนนั้นเธอแค่คิดสนุก เลยเทเม็ดแป้งมันสำปะหลังลงในชาและลองดื่มดู

“ทุกคนในห้องประชุมต่างชื่นชอบเครื่องดื่มนี้ หลังจากนั้นเครื่องดื่มเย็นใส่ไข่มุกก็ได้รับความนิยมในอีกไม่กี่เดือนต่อมา”

“หลิน ชิ่ว ฮุย” ยังอ้างว่าแบรนด์ชาไข่มุกของเธอเป็นแบรนด์แรกที่เริ่มนำชามาเขย่ากับอุปกรณ์เขย่าเครื่องดื่ม

การต่อสู้เพื่อครอบครองลิขสิทธิ์ชาไข่มุกเป็นไปอย่างดุเดือด นับตั้งแต่ปี 2009 กระทั่งปี 2019 การฟ้องร้องก็จบลง โดยศาลตัดสินให้ชาไข่มุกเป็นเครื่องดื่มที่ทุกคนหรือทุกร้านสามารถทำขึ้นได้ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องตัดสินใจว่าใครเป็นผู้คิดค้นเครื่องดื่มชนิดนี้

“ตู้ ซง” กล่าวว่า “ในวงการชา เราสองคนถือเป็นเพื่อนกัน แต่การฟ้องร้องจำเป็นต้องเกิดขึ้นเพื่อค้นหาความจริง ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแต่อย่างใด และหลังจากนี้เราจะให้คนที่ดื่มชาของเราเป็นผู้ตัดสินเอง

รักแรกจิบ

หนึ่งในผู้ที่ทำให้ชาไข่มุกได้รับความนิยมในระดับโลกคือ “อัซซาด ข่าน” นักลงทุนชาวอังกฤษ ซึ่งปัจจุบันมีแบรนด์ชาไข่มุกอยู่ในอังกฤษ

เขาเผยว่า ดื่มชาไข่มุกครั้งแรกขณะอยู่ที่นิวยอร์ก เมื่อปี 2009 และหลงรักชาไข่มุกตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้จิบ

“มันคือชาไข่มุกเผือก ผมไม่เคยดื่มอะไรแบบนี้มาก่อน มันมีรสสัมผัสที่แตกต่าง เป็นส่วนผสมระหว่างเครื่องดื่มประเภทชาและไข่มุก ซึ่งออกมาคล้ายของหวานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว”

แม้ว่าชาไข่มุกจะได้รับความนิยมในย่านที่อยู่ชาวจีนในต่างประเทศ แต่ตอนนั้นชาวเอเชียประเทศอื่น ๆ ก็ยังไม่รู้จักมากนัก “ข่าน” เห็นช่องว่างนี้ในตลาด เขาจึงตัดสินใจลาออกจากงานและเปิดแบรนด์ “บับเบิลโอโลจี” เมื่อปี 2011 เปิดร้านแรกในกรุงลอนดอน ทำให้เครื่องดื่มชนิดนี้กลายเป็นเครื่องดื่มแฟชั่นในอังกฤษ

ปัจจุบัน ชาไข่มุกเริ่มมีการพัฒนาเมนูใหม่ ๆ โดยเฉพาะการใช้น้ำตาลทรายแดงและนมสด แทนน้ำตาลทั่วไปกับครีม เทรนด์นี้กำลังได้รับความนิยมในเอเชียในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

“เฉิน ซานติง” ในไทเป เป็นหนึ่งในร้านชาไข่มุกที่บุกเบิกการใช้น้ำตาลทรายแดง ก่อนที่ร้านอื่น ๆ จะทำตาม จนสูตรนี้ลามไปยังฮ่องกง มาเลเซีย ไทย และ ญี่ปุ่น

สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจาก GrabFood สำรวจพบว่า ปี 2561 ชาวไทยบริโภคชานมไข่มุกมากสุด เฉลี่ยคนละ 6 แก้วต่อเดือน รองลงมาฟิลิปปินส์ 5 แก้วต่อเดือน ตามด้วยมาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย เฉลี่ยบริโภค 3 แก้วต่อเดือน