“เอสเอ็มอี” ในเอเชีย ต้องอุ้มก่อน “พากันตาย”

File Photo (Photo by Nhac NGUYEN / AFP)
คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ขณะที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ลุกลามออกไปทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อแล้วเกือบ 3 ล้านคน เสียชีวิตไปเกิน 2 แสนคน โดยยังไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีนป้องกัน รัฐบาลของแต่ละประเทศจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ให้อยู่แต่กับบ้าน ส่งผลกระทบมหาศาลต่อกิจการน้อยใหญ่ในแต่ละประเทศ แต่ผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจระบุว่า กิจการที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุดในสถานการณ์นี้ก็คือ บรรดากิจการขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งมักเรียกว่ากลุ่มเอสเอ็มอีทั้งหลายนั่นเอง

โดยปัญหานี้จะหนักหน่วงเป็นพิเศษสำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกทั้งหลาย เพราะข้อมูลของ ธนาคารโลกระบุว่า กิจการในเอเชีย-แปซิฟิกคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ล้วนเป็นกิจการเอสเอ็มอี ยิ่งไปกว่านั้น เอสเอ็มอีเหล่านี้ยังจ้างงานมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ของกำลังแรงงานทั้งหมดในภูมิภาคอีกด้วย นั่นหมายความว่า การล้มหายตายจากของเอสเอ็มอี ไม่ได้หมายความเพียงแค่การล้มหายตายจากไปของธุรกิจหนึ่ง ๆ เท่านั้น หากแต่จะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและก่อปัญหาสังคมขึ้นมหาศาลอีกต่างหาก ซึ่งการระบาดของไวรัสโควิด-19 กำลังคุกคามกิจการเหล่านี้ให้ตกอยู่ในสภาพร่อแร่เต็มที ทั้ง ๆ ที่หลายประเทศในภูมิภาคพากันออกมาตรการทั้งเพื่อบรรเทาผลกระทบ ทั้งเพื่อช่วยเหลือให้ทรงตัวอยู่ได้ต่อไปก็ตาม

รายงานล่าสุดของ อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (อีไอยู) ระบุว่า มาตรการกักตัวและรักษาระยะห่างเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด ส่งผลให้ “ความต้องการขั้นสุดท้าย” ของผู้บริโภคเหือดหายไป มาตรการด้านการคลังขนาดใหญ่ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการเงิน จะช่วยได้ก็เพียงแค่ยืดหนี้ที่มีอยู่ออกไปอีกระยะหนึ่งเท่านั้น ในหลาย ๆ กรณี มาตรการเหล่านี้จะยิ่งส่งผลให้เกิดภาระหนี้สินมากขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ ข้อสังเกตของอีไอยูที่ซ้ำร้ายมากขึ้นก็คือ ถ้าหากกิจการเหล่านี้เกิดล้มหายตายจากไป ภาวะว่างงานสำหรับแรงงานในกลุ่มเอสเอ็มอีจะเจ็บปวดมากกว่าในภาคธุรกิจ ซึ่งเหตุผลก็คือ แรงงานเอสเอ็มอี ส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก คือมากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ เป็นแรงงานที่ไม่มีหลักประกันทางสังคมคุ้มครอง ตกงานก็หมายถึงไม่มีเงิน ไม่มีรายได้อย่างฉับพลัน เพราะไม่มีหลักประกันให้ผลประโยชน์ยามว่างงานเหมือนกิจการขนาดใหญ่หรือในประเทศที่เศรษฐกิจก้าวหน้าแล้วทั้งหลาย

คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคม (เอสแคป) แห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เห็นด้วย ทั้งยังเสริมด้วยว่า แม้ในประเทศส่วนหนึ่งยังสามารถเข้าถึงผลประโยชน์เมื่อว่างงานได้ แต่ความไม่มั่นคงก็ยังจะเกิดขึ้น เพราะแนวโน้มของการจ้างงานในระยะยาวยังมองไม่เห็น โดยเอสแคปยอมรับว่า รัฐบาลของหลายประเทศในภูมิภาคประกาศมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดให้ลดน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นประเทศอย่างญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไทย หรือในประเทศอย่างกัมพูชา ที่ล้วนพยายามเพิ่มเงินในกระเป๋าของครัวเรือนทั้งหลายให้มากขึ้น เพื่อลดภาระในการครองชีพลง พร้อมมาตรการทางการเงินและการคลังอีกหลายชุด เพื่อรักษาสภาพคล่องของเอสเอ็มอีเอาไว้ ตั้งแต่การยกเว้นภาษี เรื่อยไปจนถึงกันวงเงินไว้เพื่อสนับสนุนสภาพคล่อง ป้องกันการลอยแพพนักงาน ในขณะที่มาตรการทางการเงิน อัดฉีดเม็ดเงินออกมาเพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริโภคเพิ่มมากขึ้น

ทว่า คำถามสำคัญก็คือ มาตรการเหล่านี้เพียงพอแล้วหรือไม่ ที่จะช่วยพยุงไม่ให้บรรดาเอสเอ็มอีทั้งหลายล้มหายตายจากไป ?

อย่างไรก็ตาม “อาร์มีดา ซัลเซียะห์ อลิสยาบานา” เลขาธิการเอสแคป ภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก แสดงความคาดหวังในทางที่ดีเอาไว้ว่า มาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลของประเทศในภูมิภาคประกาศออกมาน่าจะมีประสิทธิภาพเพียงพอ แต่ก็ชี้ให้เห็นด้วยว่า ในบางประเทศยังคงมีช่องทางให้เพิ่มเติมมาตรการเพื่อช่วยเหลือกิจการกลุ่มนี้โดยเฉพาะได้อีก

ในขณะเดียวกัน ระยะเวลาของการล็อกดาวน์ก็สำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดโอกาสรอดของเอสเอ็มอีทั้งหลายว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน 3 เดือนเศษที่ผ่านมา สาหัสสากรรจ์เป็นที่รับรู้กันทั่ว ถ้าหากขยายออกไปอีก 2-3 เดือน ที่เคยปริ่ม ๆ น้ำอยู่มีหวังจมน้ำกันเป็นทิวแถว ที่สำคัญ “ชอว์น โรช” หัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์ประจำเอเชีย-แปซิฟิก ของ เอสแอนด์พี เรตติ้ง เตือนเอาไว้ว่า ถ้าหากสถานการณ์วิกฤตยืดออกไปอีก 2-3 เดือนแล้วล่ะก็ แม้แต่รัฐบาลของประเทศในภูมิภาคนี้ก็คงหมดหนทางที่จะให้การสนับสนุนบรรดาเอสเอ็มอีแล้วเหมือนกัน

นี่คือห้วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของวิกฤตที่ผู้กำหนดนโยบายต้องถี่ถ้วนและรอบคอบอย่างยิ่ง !