เมื่อเอกชนจม “ทะเลหนี้” อุปสรรคฟื้นเศรษฐกิจสหรัฐ

REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

สถานการณ์ในปัจจุบัน ภาคธุรกิจทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างถ้วนหน้า แม้แต่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่าง “สหรัฐอเมริกา” ที่กลายเป็นศูนย์กลางของโรคระบาดในเวลานี้ ทำให้ภาคเอกชนอเมริกันจำนวนมากต้องพยายามอย่างหนักในการพยุงธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้ ด้วยการรักษากระแสเงินสดเพื่อหล่อเลี้ยงองค์กร นำไปสู่การก่อหนี้อย่างมหาศาลจนกลายเป็น “ทะเลหนี้” ที่ท่วมธุรกิจให้ไม่สามารถหลุดพ้นวังวนหนี้สินได้ และอาจกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐไม่อาจฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

“ซีเอ็นเอ็น” รายงานว่า ระดับหนี้ภาคเอกชนของสหรัฐในปัจจุบันพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากภาคธุรกิจต่างก่อหนี้เพื่อดึงดูด “เงินสด” ให้เพียงพอต่อการประคองกิจการของตนเองให้เดินหน้าต่อไปได้ ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาภาคธุรกิจของรัฐบาลสหรัฐ ทั้งการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและการลดอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้ภาคธุรกิจจำนวนมากเสนอขายหุ้นกู้มากยิ่งขึ้น

ข้อมูลบริษัท รีฟินิทีฟ (Refinitiv) ผู้ให้บริการข้อมูลด้านตลาดการเงินระดับโลกระบุว่า หุ้นกู้กลุ่มระดับลงทุน (investment-grade) ที่เสนอขายโดยบริษัทนอกภาคการเงินตั้งแต่ต้นปี 2020 จนถึงปัจจุบัน มีมูลค่าสูงถึง 425,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งนับว่าสูงเกือบ 2 เท่าจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2019 โดยมูลค่าของหุ้นกู้ดังกล่าวมากกว่า 300,000 ดอลลาร์สหรัฐที่ถูกเสนอขายในช่วงเดือน มี.ค.ถึง 3 สัปดาห์แรกของเดือน เม.ย. 2020

“แมตต์ ทูล” (Matt Toole) จากรีฟินิทีฟระบุว่า “ในภาวะที่อุตสาหกรรมต้องระงับการดำเนินการ โดยไม่รู้ว่าจะกลับมาเปิดทำการได้เมื่อไหร่ พวกเขาจึงต้องทำสิ่งที่มั่นใจได้ว่าจะสามารถรักษาสภาพคล่องทางการเงินได้เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ”

โดยธุรกิจที่มีการขายหุ้นกู้อย่างมากในเวลานี้ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจการบิน ร้านอาหาร ร้านค้าปลีก และโรงแรม ซึ่งล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ของสหรัฐ รวมถึงผู้ประกอบการน้ำมันอย่าง “เอ็กซอนโมบิล” ที่ได้รับผลกระทบจากความต้องการและราคาน้ำมันที่ลดลง ก็ได้ประกาศขายหุ้นกู้มูลค่า 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนเจเนอรัล อิเล็กทริก และดิสนีย์ ก็เสนอขายหุ้นกู้บริษัทละเกือบ 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากการระดมทุนขายหุ้นกู้ หลายบริษัทยังขอกู้แบงก์เพิ่มจากวงเงินสินเชื่อที่มีกับสถาบันการเงิน โดยข้อมูลของรีฟินิทีฟระบุว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีบริษัทอเมริกันกว่า 50 บริษัทเข้าถึงวงเงินสินเชื่อมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป

ด้าน บริษัทวิจัยเดบต์ไวร์ (Debtwire) ได้ประมาณการว่า ตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา บริษัทอเมริกันได้ขอเบิกเงินจากวงเงินสินเชื่อรวมกว่า 220,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในจำนวนดังกล่าวมีประมาณ 52,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่เป็นเงินกู้ของ 4 บริษัทอเมริกันยักษ์ใหญ่ ได้แก่ โบอิ้ง, เจเนอรัล มอเตอร์ส, ฟอร์ด และเฟียต ไครสเลอร์ เพื่อมาใช้เสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ

“วิลล์ ไคเกอร์-สมิท” (Will Caiger-Smith) จากเดบต์ไวร์ระบุว่า “เมื่อบริษัทที่กู้ยืมเงินจะสามารถนำพาธุรกิจให้รอดพ้นจากภาวะโรคระบาดในครั้งนี้ได้ แต่การกู้ยืมดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการลงทุนด้านอื่น ๆ ในอนาคต ซึ่งจะกลายเป็นอุปสรรคในการฟื้นตัวของบริษัท เพราะไม่เพียงต้องตอบสนองความต้องการของนักลงทุนและพนักงาน แต่ยังต้องตอบสนองต่อเจ้าหนี้ด้วย”

นั่นหมายความว่า ผลประกอบการของบริษัทจะต้องถูกนำไปชำระหนี้เป็นหลัก ดังนั้น บริษัทจึงจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุด ซึ่งอาจส่งผลให้บริษัทไม่สามารถดำเนินการตามแผนการลงทุนได้ และหากสถานการณ์ไม่คลี่คลายอาจสร้างแรงกดดันให้บริษัทจำเป็นต้องปรับเลิกจ้าง และยุติการดำเนินงานบางส่วนไปจนถึงขายทรัพย์สิน หรืออาจถึงขั้นต้องปิดกิจการ

ขณะเดียวกัน บางบริษัทที่แม้จะไม่ได้รับผลกระทบมากจากภาวะโรคระบาด ก็ได้ใช้โอกาสจาก “ดอกเบี้ยต่ำ” ดูดเงินสดเข้าสู่บริษัทด้วยการเสนอขายหุ้นกู้เช่นกัน อย่าง “เน็ตฟลิกซ์” ผู้ให้บริการสตรีมมิ่งระดับโลกที่ได้รับประโยชน์จากยอดผู้ชมที่เพิ่มสูงขึ้น ในช่วงที่ผู้คนจำนวนมากกักตัวเองในที่พักอาศัย โดยบริษัทได้เสนอขายหุ้นกู้มูลค่ารวม 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสำหรับการลงทุนผลิตและพัฒนารายการและภาพยนตร์ใหม่ ๆ

“ทรอย กาเยสกิ” (Troy Gayeski) เจ้าหน้าที่ด้านการลงทุนร่วมของสกายบริดจ์ แคปิตอล (SkyBridge Capital) ระบุว่า “ปัญหาระดับหนี้ที่สูงนั้นอาจกลายเป็นข้อจำกัดของธุรกิจอเมริกัน ในการรักษาศักยภาพการลงทุนเพื่อการเติบโตของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง”

ขณะที่ “เจอโรม พาวเวลล์” ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออกมาเตือนภาคเอกชนสหรัฐตั้งแต่ พ.ค. 2019 ว่า “หนี้สินของภาคธุรกิจได้ถึงระดับที่ธุรกิจและนักลงทุนควรต้องตระหนักและหยุดก่อหนี้ เพราะหากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำมาถึงอย่างที่ไม่คาดคิด บางบริษัทอาจจะต้องเผชิญความท้าทาย โดยระดับหนี้ที่สูงของภาคธุรกิจจะทำให้ความเสียหายทางเศรษฐกิจขยายวงกว้างออกไป เนื่องจากบริษัทจำเป็นจะต้องเลิกจ้างพนักงานและปรับลดการลงทุน”

และสถานการณ์ดังกล่าวก็จะนำไปสู่การบริโภคที่ลดลงและส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อไปยังภาคเศรษฐกิจ แม้ว่าปัจจุบันเฟดยังคงยืนยันว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังมีความแข็งแกร่งมากพอที่จะรับมือกับวิกฤตการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้น แต่ภาวะทะเลหนี้สินของภาคธุรกิจสหรัฐในขณะนี้ อาจกลายเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากที่เหตุการณ์โควิด-19 ผ่านพ้นไป

หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นในเร็ววัน และเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำซ้ำเติมอีกครั้ง ในอนาคตตามคำทำนายของพาวเวลล์ ก็จะยิ่งทำให้บริษัทที่มีปัญหาสภาพคล่องหนี้ท่วมต้องล้มหายตายจากไปอีกมาก ซึ่งนั่นจะเป็นความท้าทายครั้งใหญ่อีกครั้งของรัฐบาลสหรัฐที่ต้องตระเตรียมรับมือให้ดีก่อนที่เหตุการณ์เลวร้ายจะเกิดขึ้นจริง