บัลลังก์แอลซีดีสะเทือน ซัมซุง-แอลจี เร่งปรับตัวหนีจีนไล่บี้

คอลัมน์ Market Move

การประกาศถอนตัวออกจากอุตสาหกรรมผลิตหน้าจอแอลซีดีของ “ซัมซุง” ด้วยการปิดโรงงาน 2 แห่งในเกาหลี และขายโรงงานในจีน เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา นับเป็นสัญญาณความเปลี่ยนแปลงในวงการนี้ ซึ่งเมื่อสิบกว่าปีก่อนยักษ์อิเล็กทรอนิกส์สัญชาติเกาหลีรายนี้ยังถือเป็นผู้นำที่ทิ้งห่างผู้ผลิตรายอื่น ๆ ทั้งญี่ปุ่น และจีน แต่ปัจจุบันกลับถูกรุกไล่จากผู้ผลิตสัญชาติจีนที่มีศักยภาพสูงขึ้นทั้งด้านต้นทุน และคุณภาพ จนอดีตเจ้าตลาดจำเป็นต้องถอนตัว เช่นเดียวกับ “แอลจี” ยักษ์อิเล็กทรอนิกส์เกาหลีรายใหญ่อีกราย ที่เผชิญการแข่งขันรุนแรง จนรายได้ของ “แอลจี ดิสเพลย์” ธุรกิจผลิตหน้าจอลดลงต่อเนื่อง

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานถึงทิศทางการแข่งขันและการปรับตัวของ 2 ยักษ์เกาหลี ซึ่งพยายามพัฒนาและโปรโมตเทคโนโลยีหน้าจอที่คุณภาพสูงขึ้น ทั้งคิวดี-โอแอลอีดี (QD-OLED) และโอแอลอีดี เพื่อรับมือกับการแข่งขัน และรักษาตำแหน่งผู้นำของวงการจอภาพเอาไว้ให้ได้

โดยในภาพรวมของอุตสาหกรรมผลิตหน้าจอแอลซีดีนั้น จีน (ไม่รวมไต้หวัน) ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นรายหลักแทนเกาหลีและญี่ปุ่นอย่างชัดเจน สะท้อนจากตัวเลขกำลังผลิต ซึ่งข้อมูลของบริษัท วิจัยอิโฟมาร์ ระบุว่า กำลังผลิตของจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปี 2553 จากไม่ถึง 10% กลายเป็นเกือบ 60% ในปัจจุบัน สวนทางกับเกาหลีที่สัดส่วนลดลงจาก 50% เหลือประมาณ 20% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการสนับสนุนของรัฐบาลจีนที่อัดฉีดเม็ดเงินให้กับบรรดาผู้ผลิต ช่วยให้สามารถแข่งขันราคาได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันก็มีงบฯเหลือสำหรับพัฒนาคุณภาพสินค้า จนสามารถปั้นผู้ผลิตดาวรุ่ง อาทิ บีโออี เทคโนโลยี (BOE Technology) ซึ่งมาแรงในเซ็กเมนต์หน้าจอทีวี และเทียนมา ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (Tianma Microelectronics) ที่เชี่ยวชาญด้านหน้าจอมือถือ

ทั้งนี้ ดิสเพลย์ซัพพลายเชน คอนซัลแทนบริษัท วิจัยสัญชาติสหรัฐ ประเมินว่า แม้แอลจี ดิสเพลย์ จะยังเป็นรายใหญ่ด้วยส่วนแบ่ง 24.2% ของตลาดหน้าจอสำหรับทีวี แต่บีโออี เทคโนโลยี รุกไล่เข้ามาจนหายใจรดต้นคอด้วยส่วนแบ่ง 19.7% ด้วยการตั้งโรงงานใหม่ทุกปี รวมถึงมีเทคโนโลยีทัดเทียมกับชาร์ปและซัมซุง และหากมองในภาพรวมกำลังผลิตระดับประเทศ ผู้ผลิตจีนแซงหน้าเกาหลีมาตั้งแต่ปี 2560 แล้ว

เพื่อรับมือการรุกคืบนี้ “ซัมซุง” ได้ตัดสินใจเด็ดขาด ถอนตัวจากอุตสาหกรรมนี้ ด้วยการหยุดสายการผลิตของโรงงานทั้งในเกาหลี และจีนภายในสิ้นปี หนึ่งในนั้นมีโรงงานที่ร่วมทุนกับโซนี่ตั้งขึ้นในปี 2543 ซึ่งถือเป็นตัวจักรสำคัญที่ผลักดันซัมซุงขึ้นเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมอยู่ด้วย

พร้อมหันไปโฟกัสกับหน้าจอที่มีเทคโนโลยี และคุณภาพของสีสัน ความสว่างสูงขึ้นไปอีกขั้น อย่างคิวดี-โอแอลอีดี แทน เพื่อสร้างระยะห่างจากคู่แข่งแดนมังกร โดยประกาศแผนลงทุนมูลค่ากว่า 13.1 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 3.44 แสนล้านบาท เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี และตั้งสายการผลิตในโรงงานต่าง ๆ แทนหน้าจอแอลซีดี

ด้าน แอลจี ดิสเพลย์ เตรียมหยุดผลิตหน้าจอแอลซีดีจากโรงงานในเกาหลีเช่นกัน เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายให้สามารถกลับมามีกำไรภายในปีนี้ หลังแผนธุรกิจเดิมที่จะเป็นผู้ซัพพลายหน้าจอแอลซีอี และโอแอลอีดีในทุกเซ็กเมนต์ตั้งแต่เล็ก กลาง ใหญ่ ทำให้มีค่าใช้จ่ายมากเกินไป รวมถึงขายพันธบัตรเพื่อระดมทุนอีกกว่า 8.13 แสนล้านวอน หรือประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท สำหรับลงทุนเสริมแกร่งด้านต่าง ๆ

พร้อมผลักดันเทคโนโลยีหน้าจอโอแอลอีดี โดยเฉพาะในตลาดทีวี แม้จะยังมีอุปสรรคเรื่องความนิยมโอแอลอีดีทีวี ที่เติบโตเชื่องช้า โดยปีที่ 2562 ยอดขายโอแอลอีดีทีวีทั่วโลกมีสัดส่วนเพียง 1% หรือประมาณ 3.3 ล้านเครื่อง ของตลาดทีวี 287.1 ล้านเครื่อง ในขณะที่ตลาดมือถือนั้น เป้าหมายที่จะเป็นซัพพลายเออร์หน้าจอโอแอลอีดีสำหรับไอโฟนกลับล่มไป หลังแอปเปิลปฏิเสธไม่ใช้หน้าจอของแอลจีในไอโฟนรุ่นล่าสุด

ทั้งนี้ “จอง โฮ-ยัง” ซีอีโอของแอลจี ดิสเพลย์ กล่าวว่า จากนี้บริษัทจะเร่งเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโอแอลอีดีให้มากขึ้นอีก

ความเคลื่อนไหวนี้สะท้อนถึงวัฏจักรในวงการเทคโนโลยีที่คลื่นลูกใหม่มักจะมาแรง และบีบให้รายเก่าต้องปรับตัวอยู่เสมอ ต้องรอดูกันว่า ยักษ์เกาหลีทั้ง 2 รายจะรับมืออย่างไร