ดีมานด์น้ำมันจีนเริ่มฟื้น ดันราคาสูงกว่าตลาดโลก

FILE PHOTO: REUTERS/Aly Song/File Photo

สถานการณ์ของโควิด-19 ส่งผลให้ทั่วโลกใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อจำกัดการระบาด แต่การหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ส่งผลกระทบต่อความต้องการน้ำมันดิบทั่วโลกลดลงราว 30 ล้านบาร์เรล/วัน เป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันราคาน้ำมันทั่วโลกดิ่งลงในขณะนี้ ซึ่ง “จีน” นับเป็นประเทศแรกที่เผชิญกับการลดลงของดีมานด์น้ำมัน จากการยุติกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นแห่งแรกของโลก นับตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา

แต่ความต้องการน้ำมันของจีนก็ได้เริ่มกลับมาฟื้นตัวเป็นแห่งแรกของโลกเช่นกัน หลังจากที่สามารถควบคุมการระบาดของไวรัสได้ และเริ่มกลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง บลูมเบิร์กรายงานว่า โรงกลั่นน้ำมันในจีนได้กลับมาเดินเครื่องอีกครั้งในเดือน เม.ย. ที่ระดับ 13 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งปริมาณดังกล่าวใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของการกลั่นน้ำมันต่อวันของจีนในปี 2019 และเพิ่มขึ้นจากระดับการกลั่นน้ำมันในเดือน ก.พ. ที่อยู่เพียงระดับ 9 ล้านบาร์เรล/วันเท่านั้น

“อเล็กซ์ เบอร์สัน” นักวิเคราะห์ตลาดพลังงานอาวุโสของเคย์รอส เปิดเผยว่า สต๊อกน้ำมันดิบของจีนในเดือน เม.ย.ลดลงถึง 1.3 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ความต้องการบริโภคน้ำมันของจีนกำลังฟื้นตัวจากช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา จากการหยุดชะงักของเศรษฐกิจที่ทำให้สต๊อกน้ำมันดิบของจีนเพิ่มขึ้นถึง 90 ล้านบาร์เรลการฟื้นตัวของดีมานด์น้ำมันของจีน

ในขณะที่ทั่วโลกยังคงต้องล็อกดาวน์เศรษฐกิจ ส่งผลให้ราคาสัญญาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าของตลาดจีนสูงกว่าราคาน้ำมันล่วงหน้าของตลาดต่างประเทศเป็นอย่างมาก เป็นโอกาสการทำ “อาร์บิทราจ” (arbitrage) เพื่อหากำไรจากส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันในตลาดจีนและตลาดต่างประเทศ

โดยรายงานระบุด้วยว่า นับตั้งแต่ช่วงต้นเดือน เม.ย.เป็นต้นมา ราคาสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้าของ “ดูไบ” ส่งมอบเดือน มิ.ย. ลดลงถึง 19% ขณะที่ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้า “เซี่ยงไฮ้” ของจีนส่งมอบเดือน ก.ค. ลดลงเพียง 6% เท่านั้น ก่อให้เกิดส่วนต่างระหว่างราคาของ 2 ตลาดเฉลี่ยตลอดทั้งเดือน เม.ย. สูงถึง 14 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

“เฉิน ทง” นักวิเคราะห์จากเฟิร์ส ฟิวเจอร์สชี้ว่า การเปิดเศรษฐกิจของจีนได้เร็ว ทำให้ตลาดการเงินของจีนฟื้นตัวเร็วกว่าที่อื่น ๆ โดยเฉพาะการฟื้นตัวของตลาดฟิวเจอร์สน้ำมันจากแรงซื้อมหาศาล ซึ่งสร้างโอกาสในการหากำไรจากส่วนต่างของราคาน้ำมัน

เช่นเมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้าตลาดเซี่ยงไฮ้ของจีน ส่งมอบเดือน ก.ค. อยู่ที่ระดับราว 35 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้าดูไบ ส่งมอบเดือน มิ.ย. อยู่ที่ระดับเพียงราว 24 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งเทรดเดอร์น้ำมันสามารถเปิดสัญญาซื้อน้ำมันในตลาดดูไบ และเปิดสัญญาขายน้ำมันในตลาดเซี่ยงไฮ้พร้อมกัน เพื่อซื้อน้ำมันจากตลาดดูไบแล้วนำมาขายในจีน โดยกินกำไรส่วนต่าง 9 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

โดยผู้ค้าต้องนำน้ำมันดิบมาเก็บไว้ที่คลังเก็บของตลาดฟิวเจอร์สสินค้าโภคภัณฑ์พลังงานเซี่ยงไฮ้ (ไอเอ็นอี) เพื่อรอส่งมอบ ซึ่งรายงานระบุว่า วันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้มีน้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง ประมาณ 948,000 บาร์เรล ถูกส่งมาเก็บยังคลังเก็บน้ำมันไอเอ็นอีแล้ว

ขณะที่รอยเตอร์สรายงานผลวิจัยของไอเอ็นอีที่คาดการณ์ว่า ส่วนต่างของราคาน้ำมันที่สูงมากจะส่งผลให้เกิดการนำน้ำมันจากต่างประเทศจำนวนมหาศาลเข้ามาขายในจีน แต่แรงจูงใจในการทำอาร์บิทราจจำนวนมากก็อาจส่งผลให้ปริมาณน้ำมันล้นความจุคลังเก็บของไอเอ็นอี ที่สามารถจุน้ำมันได้อีกเพียง 27 ล้านบาร์เรลเท่านั้น

จากความกังวลดังกล่าวอาจส่งผลให้ไอเอ็นอีประกาศอนุญาตให้บริษัทผู้ค้าน้ำมัน สามารถจัดเก็บน้ำมันไว้ในเรือบรรทุกหรือคลังเก็บน้ำมันส่วนตัวของบริษัทเพื่อรอเวลาการส่งมอบได้ ซึ่งคาดว่าช่วยเพิ่มปริมาณความจุได้ราว 48 ล้านบาร์เรล เพื่อรองรับน้ำมันดิบจากต่างประเทศที่จะไหลทะลักเข้าสู่ประเทศจีน จากการหากำไรด้วยการทำอาร์บิทราจน้ำมัน