มาตรการเยียวยา ‘อียู’ เสี่ยงล่ม โศกนาฏกรรมการรวมกลุ่มประเทศ

REUTERS/Yves Herman/File Photo

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของยุโรปอย่างหนัก โดยคณะกรรมาธิการยุโรปคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอียูจะหดตัวถึง -7.5% ในปี 2020 ซึ่งหนักกว่าเมื่อครั้งวิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2008

ขณะที่แผนเยียวยาเศรษฐกิจโดยรวม “สหภาพยุโรป” ประเทศสมาชิกจำเป็นต้องเห็นพ้องร่วมกัน แต่แผนดังกล่าวยังไร้ความคืบหน้า นอกจากนี้คำตัดสินล่าสุดของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ประเทศเยอรมนี ต่อมาตรการคิวอีของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ยิ่งสร้างความกังวลว่า “การรวมกลุ่มประเทศ” อาจเป็นอุปสรรคในการนำพาประเทศสมาชิกผ่านพ้นวิกฤต

แม้ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศสมาชิกอียู จะเห็นพ้องร่วมกันเบื้องต้นถึงการทำแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของอียูมูลค่า 540,000 ล้านยูโรเมื่อ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา ซีเอ็นบีซีรายงานว่าประเทศสมาชิกยังคงไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันในหลายประเด็น โดยเฉพาะการจัดหาเงินทุน

โดย 9 ประเทศสมาชิกนำโดย “ฝรั่งเศสและอิตาลี” เสนอให้ระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรที่เรียกว่า “Corona Bond” สำหรับดำเนินมาตรการช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ซึ่งทุกประเทศต้องรับภาระหนี้ก้อนนี้ร่วมกัน แต่ก็ถูกต่อต้านโดยประเทศที่มีสถานะการคลังแข็งแกร่ง

การไม่สามารถหาข้อสรุปได้ส่งผลให้การดำเนินมาตรการต่าง ๆ อาจล่าช้าจากกำหนดที่ “ชาลส์ มิเชล” ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเรียกร้องว่าให้ดำเนินการให้ทัน 1 มิ.ย. 2020 ขณะที่กำหนดการประชุมผู้นำอียูครั้งต่อไปคือ 18 มิ.ย. 2020 ซึ่งหมายความว่ามาตรการกระตุ้นอาจล่าช้าไปอย่างน้อย 2 สัปดาห์

ดังนั้นมาตรการทางการเงินของอีซีบีจึงกลายเป็นเครื่องมือเดียวในการพยุงเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์สรายงานอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ประเทศเยอรมนีเมื่อ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ระบุว่า มาตรการคิวอีมูลค่า 2 ล้านล้านยูโร อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายของเยอรมนี โดยศาลมีคำสั่งให้อีซีบีชี้แจงประเด็นดังกล่าวภายใน 3 เดือน ซึ่งหากคำชี้แจงไม่มีน้ำหนักพอ ศาลอาจสั่งให้บุนเดสแบงก์ถอนตัวจากโครงการคิวอี และขายพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีที่ถือไว้ 533,000 ล้านยูโรออกมา

ประเด็นนี้ได้สร้างความงุนงงทางกฎหมายขึ้นมา จากที่ศาลของประเทศสมาชิกสามารถออกคำสั่งที่เกี่ยวพันถึงหน่วยงานระดับของสหภาพอย่าง “อีซีบี” ทำให้อนาคตอาจมีศาลอีกหลายประเทศที่ออกคำตัดสินที่ท้าทายต่อการดำเนินมาตรการของอีซีบีได้อีก

ปัญหาการขาดความเด็ดขาดในการออกมาตรการเพื่อรับมือกับวิกฤต สร้างความไม่พอใจต่อประเทศสมาชิกที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งท้าทายการดำรงอยู่ของ “สหภาพยุโรป”