เว้นระยะห่างทางสังคม จุดเปลี่ยน “แชริ่ง อีโคโนมี”

(Photo by Eva Marie UZCATEGUI / AFP)

การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนมากหน้าหลายตาจากการแบ่งปันพื้นที่หรือสิ่งของร่วมกันในการใช้ชีวิตเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้กลายเป็นเทรนด์ที่มาแรงมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เทรนด์ “แชริ่ง อีโคโนมี” จำนวนมากเติบโตอย่างก้าวกระโดด อย่างธุรกิจ “ไรด์ เฮลลิ่ง” และ ธุรกิจแชร์ที่อาศัย ที่เจ้าของรถยนต์หรือสถานที่พักสามารถแบ่งปันให้ผู้อื่นมาร่วมใช้งานได้ แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค “โควิด-19” ได้ทำให้ผู้คนทั่วโลกจำเป็นต้องเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัส ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจแชริ่งเหล่านี้โดยตรง

รวมถึงยังเป็นคำถามว่า new normal ชีวิตหลังโควิด-19 ผู้คนจะยังเชื่อมั่นกับการใช้บริการในรูปแบบแชริ่ง อีโคโนมีหรือไม่

รอยเตอร์สรายงานว่า “แอร์บีเอ็นบี” ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจองที่พักแบบแชริ่ง อีโคโนมี ได้ประกาศเลิกจ้างพนักงานเกือบ 1,900 คน หรือราว 25% ของพนักงานทั้งหมดราว 7,500 คน

เนื่องจากบริษัทได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาวะโรคระบาดที่ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวหยุดชะงักไปในทันที นอกจากนี้ซีอีโอบริษัทจะไม่รับเงินเดือนเป็นเวลา 6 เดือน รวมทั้งการลดเงินเดือนผู้บริหารระดับสูง 50%

“ไบรอัน เชสกี” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของแอร์บีเอ็นบีระบุในจดหมายถึงพนักงานว่า “ธุรกิจของแอร์บีเอ็นบีได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยคาดว่ารายรับปีนี้จะลดลงน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของรายรับในปี 2019” ซึ่งอยู่ที่ราว 4,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยแอร์บีเอ็นบีมีภาระที่จะต้องคืนเงินให้กับลูกค้าที่ยกเลิกการจองห้องพักเป็นจำนวนมาก และยังต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับเจ้าของที่พักอาศัยที่ลงทะเบียนกับบริษัทด้วย ซึ่งแอร์บีเอ็นบีเปิดเผยว่า ได้จัดเตรียมเงินชดเชยในส่วนนี้ไว้สูงถึง 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สถานการณ์โรคระบาดยังได้สร้างความไม่แน่นอนในระยะยาวให้กับผู้ให้บริการแชร์ที่พักอย่างแอร์บีเอ็นบี เพราะแม้ว่าโควิด-19 จะสามารถควบคุมได้ แต่ความหวาดกลัวและการระมัดระวังด้านสุขอนามัยในการแบ่งปันที่พักอาศัยร่วมกับผู้อื่นจะยังคงต้องใช้เวลาอีกสักใหญ่จึงจะสามารถฟื้นคืนความมั่นใจอีกครั้ง

ขณะที่ “อูเบอร์” ผู้ให้บริการไรด์ เฮลลิ่งรายใหญ่ระดับโลก ก็ประกาศเลิกจ้างพนักงานราว 3,700 คน หรือ 14% ของพนักงานทั้งหมด เนื่องจากภาวะโรคระบาดที่ทำให้ยอดผู้ใช้บริการลดฮวบอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนโดยบริษัทระบุว่า ในเดือน เม.ย.ยอดผู้ใช้บริการในบางเมืองลดลงมากถึง 80% พร้อมกันนี้ในไตรมาส 1/2020 บริษัทประสบภาวะขาดทุนถึง 2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้จะมีรายรับเพิ่มขึ้นราว 14% จากปีก่อนหน้า เนื่องจากยอดผู้ใช้บริการ “อูเบอร์อีทส์” สั่งอาหารออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้น

การปรับลดพนักงานครั้งนี้ของอูเบอร์เป็นความพยายามรักษาระดับการทำกำไรของบริษัท โดยอูเบอร์ได้เตรียมวงเงิน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับชดเชยให้กับพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง

“ดารา คอสราวชาฮี” ซีอีโอของอูเบอร์ระบุในจดหมายที่ส่งถึงพนักงานว่า “นับเป็นวันที่โหดร้าย ผมรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งที่เรากำลังทำสิ่งเหล่านี้ แต่ก็รู้ดีว่าเราจำเป็นต้องทำ” โดยเขาเองก็จะงดรับเงินเดือนนับจากนี้จนถึงสิ้นปี 2020 ด้วย

เช่นเดียวกันกับ “ลิฟต์” ผู้ให้บริการไรด์แชริ่งรายใหญ่ในสหรัฐอีกราย ที่ประกาศเลิกจ้างพนักงาน 982 คน หรือ 17% ของพนักงานทั้งหมด หลังจากที่บริษัทเปิดเผยตัวเลขขาดทุนในไตรมาส 1/2020 สูงถึง 398 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้จะมีรายรับเพิ่มขึ้นราว 956 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 23% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

“โลแกน กรีน” ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของลิฟต์ระบุว่า บริษัทยังไม่สามารถคาดการณ์ผลกระทบทางเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจน แม้ปัจจุบันจะมีผู้กลับมาใช้บริการมากขึ้นแล้วก็ตาม หลังมีการยกเลิกข้อจำกัดการเดินทางในหลายพื้นที่

“ไวรัสกำลังเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและส่งผลกระทบอย่างหนักต่อลูกค้าและธุรกิจ เราคาดการณ์ว่าความต้องการของผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มของเราจะลดลงในอนาคตอันใกล้ ขณะที่อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ และเชื่อว่าจำนวนผู้ให้บริการจะเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าความต้องการของผู้ใช้บริการ” นายกรีนกล่าว

นอกจากนี้ เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ได้รายงานว่า “แกร็บ” ผู้ให้บริการไรด์เฮลลิ่งรายใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่แม้ว่าจะไม่ถึงขั้นปรับลดพนักงาน แต่บริษัทก็ได้เปิดให้พนักงานในบางพื้นที่อย่างใน “สิงคโปร์” ให้ลางานแบบไม่ได้รับค่าจ้าง รวมทั้งการลดเงินดือนของผู้บริหารระดับสูงลง 20%

“อีริค กอร์ดอน” ศาสตราจารย์ประจำสถาบันธุรกิจรอสส์แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน ระบุว่า สถานการณ์เช่นนี้ “ผู้บริโภคจะมีความกังวลในการใช้บริการอูเบอร์และลิฟต์ ที่เป็นรถส่วนบุคคลของผู้อื่นมากกว่าการใช้บริการรถแท็กซี่ที่มีมาตรฐานการรักษาความสะอาด และยังจะมีความกังวลในการเข้าพักที่บ้านหรืออพาร์ตเมนต์ของผู้อื่นผ่านบริการของแอร์บีเอ็นบี มากกว่าการใช้บริการโรงแรมระดับมืออาชีพ” พร้อมทั้งชี้ว่า “แพลตฟอร์มแชริ่งจะเผชิญหน้ากับอุปสรรคด้านความเชื่อมั่นของลูกค้าสูงกว่าผู้ให้บริการแบบดั้งเดิม”

แม้ว่าในขณะนี้สถานการณ์ยังคงไม่แน่นอนและยังมองไม่เห็นทางออกอย่างชัดเจน แต่ก็เริ่มเห็นการปรับตัวของธุรกิจแชริ่งแล้ว อย่างอูเบอร์ที่ประกาศให้ผู้โดยสารและคนขับจะต้องสวมหน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัด ขณะที่ลิฟต์ได้แนะนำผู้ใช้บริการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันใบหน้า นั่งในที่นั่งด้านหลัง และเปิดกระจกรถขณะเดินทางเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก อีกทั้งเน้นย้ำให้ผู้ให้บริการฆ่าเชื้อภายในยานพาหนะเป็นประจำ


นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ผู้ให้บริการติดตั้งแผ่นพลาสติกกั้นระหว่างคนขับกับผู้โดยสาร โดยให้ผู้โดยสารนั่งได้เฉพาะเบาะหลังเท่านั้นอีกด้วย นับเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับตัวครั้งใหญ่ของธุรกิจแชริ่งเพื่อรองรับกับวิถีชีวิตใหม่ของผู้คนในอนาคต