ค่าแรงสหรัฐพุ่งขึ้น 4.7% ผวาเศรษฐกิจซบ+เงินเฟ้อ

REUTERS/Murad Sezer/File Photo

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ทำลายกำลังซื้อของผู้บริโภคและภาคธุรกิจอย่างหนัก ส่งผลให้กูรูเศรษฐกิจจำนวนมากทำนายว่า เศรษฐกิจโลกอาจเผชิญกับ “ภาวะเงินฝืด” อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญบางส่วนกลับมองว่า โลกอาจเผชิญกับ “ภาวะเงินเฟ้อ” จากที่ภาคการผลิตไม่สามารถกลับมาเดินเครื่องได้เต็มที่ ขณะที่กำลังซื้อผู้บริโภคเพิ่มขึ้นจากแรงอัดฉีดเงินของธนาคารกลางจำนวนมหาศาล

ซีเอ็นเอ็นรายงานอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงของแรงงานสหรัฐ ซึ่งเป็นดัชนีตัวชี้นำเศรษฐกิจสำคัญของการเกิดภาวะเงินเฟ้อเมื่อ 8 พ.ค. 2020 ระบุว่า ค่าจ้างแรงงาน/ชั่วโมง เฉลี่ยเดือน เม.ย. พุ่งสูงขึ้นถึง 4.7% เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค. และเพิ่มขึ้นถึง 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2019 การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างดังกล่าวสร้างความกังวลว่าอาจเกิด “ภาวะเงินเฟ้อ” อย่างไรก็ตาม “พอล อาร์ โมนิก้า” ผู้สื่อข่าวของ “ซีเอ็นเอ็น” กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของตัวเลขดังกล่าวมีสาเหตุมาจากปัญหาด้านการคำนวณ เนื่องจากเดือน เม.ย. มีผู้ตกงานกว่า 20 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีรายได้ต่ำ เมื่อตัดแรงงานดังกล่าวออกไปจากฐานการคำนวณจึงทำให้เหลือแต่ผู้ที่มีรายได้สูงเป็นส่วนใหญ่ทำให้ค่าเฉลี่ยรายได้ของแรงงานสหรัฐ เมื่อเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้นอย่างมาก

ดัชนีค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจึงไม่ได้บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว หรือภาวะเงินเฟ้อกำลังจะเกิดขึ้นแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นของค่าแรงดังกล่าวยังคงตอกย้ำความกังวลสำหรับนักวิเคราะห์บางส่วนต่อการเกิด “ภาวะเงินเฟ้อท่ามกลางเศรษฐกิจที่ซบเซา”

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า การลดดอกเบี้ยลงสู่ระดับต่ำ รวมถึงการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบของ `ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ผ่านมาตรการคิวอีไม่จำกัดวงเงินและโครงการเงินกู้ต่าง ๆ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เฟดดำเนินการอัดฉีดสภาพคล่องในระดับดังกล่าว รวมถึงมาตรการกระตุ้นขนานใหญ่จากรัฐบาลจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้น โดย “พอล มาร์คาม” ผู้จัดการพอร์ตของกองทุน “นิวตัน อินเวสต์เมนท์ เมเนจเมนท์” ชี้ว่า มาตรการทางการเงินและมาตรการทางการคลังของทางการจะเป็นแรงผลักดันเงินเฟ้อตลอดช่วงระยะเวลา 3-5 ปีข้างหน้า

โดยนักเศรษฐศาสตร์เรียกสถานการณ์ของการเกิด “ภาวะเงินเฟ้อ” พร้อมกับ “ภาวะเศรษฐกิจซบเซา” ว่า “stagflation” ซึ่งในอดีตเคยเกิดภาวะ “stagflation” สาเหตุจากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง (oil price shock) ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น จนทำให้การผลิตสินค้าลดลง ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนสินค้าเป็นแรงผลักดันการเกิดเงินเฟ้อ อีกทั้งยังทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง ก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซาตามมา

ซีเอ็นบีซีรายงานว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เกิดภาวะชะงักทางการผลิตจากการปิดเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าหลายประเทศจะเริ่มควบคุมการระบาดได้และเริ่มกลับมาเปิดเศรษฐกิจแต่การผลิตยังไม่สามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และสามารถส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนสินค้าขึ้นได้ทุกเมื่อ จึงกล่าวได้ว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 สามารถทำให้เกิดภาวะ stagflation ขึ้นมาได้ ซึ่งปัจจุบันพบว่าภาวะเศรษฐกิจซบเซาได้เกิดขึ้นแล้ว ขาดเพียงแต่ภาวะเงินเฟ้อเท่านั้น

“เจมส์ แกรนต์” นักเขียนหนังสือเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ชี้ว่า เงินเฟ้อจะเกิดขึ้นหลังจากการเปิดเศรษฐกิจเนื่องจากจะเกิดแรงซื้อสินค้าที่เพิ่มขึ้นจากการที่ระบบเศรษฐกิจมีสภาพคล่องจำนวนมากผ่านการอัดฉีดของเฟด ส่งผลให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจยอมซื้อสินค้ามากกว่าจะถือเงินสดที่มีมูลค่าลดลงทุกวัน ขณะที่ภาคการผลิตยังไม่สามารถกลับมาเดินเครื่องได้อย่างเต็มที่ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนสินค้าขึ้นมารอยเตอร์สรายงานว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ยังมองว่าภาวะเงินเฟ้อจะไม่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ โดย “ปีเตอร์ มาลแลค” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “ครีเอทีฟ แพลนนิ่ง” บริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน ชี้ว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงอย่างหนัก ดังนั้นราคาสินค้าจะไม่เพิ่มขึ้นเร็ว ๆ นี้ สอดคล้องกับ “เจอโรม พาวเวลล์” ประธานเฟดที่มองว่า “ภาวะเงินเฟ้อมีแนวโน้มเกิดขึ้นน้อยมากเพราะความต้องการซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแอ รวมถึงราคาน้ำมันที่ลดลงเมื่อช่วงเวลาที่ผ่านมา”


แม้ว่านักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่จะมองว่าภาวะเงินเฟ้อเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก อย่างไรก็ตามมุมมองของฝ่ายที่เห็นว่าราคาสินค้าอาจพุ่งสูงก็ไม่ควรถูกละเลย หากตัวเลขดัชนีเงินเฟ้อของสหรัฐที่จะประกาศวันที่ 12-13 พ.ค.นี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ รวมถึงหากตัวเลขดัชนีในเดือนถัด ๆ ไปเพิ่มขึ้นก็อาจเป็นตัวบ่งชี้ว่ากำลังเกิดภาวะ stagflation ขึ้นมาแล้ว