อินเดีย-บังกลาเทศอ่วม “ไซโคลนอำพัน” ซ้ำเติมวิกฤตไวรัส

สำนักข่าวเอพีรายงานสถานการณ์ พายุไซโคลนอำพัน พัดเข้าถล่มชายฝั่ง อินเดีย และ บังกลาเทศ ในวันนี้ (20 พ.ค.) หลังจากที่ทางการของทั้งสองประเทศเร่งอพยพผู้คนกว่า 2.6 ล้านคนออกจากพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกรทบอย่างรุนแรง ท่ามกลางความกังวลว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจแพร่กระจายมากขึ้นจากการอพยพของผู้คนจำนวนมาก เพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียจากพายุครั้งนี้

ทั้งนี้ พายุไซโคลนอำพันได้พัดขึ้นชายฝั่งอินเดียตะวันออกและบังกลาเทศด้วยความเร็วลม 160-170 กม./ชม. โดยชะลอตัวลงเล็กน้อยเมื่อเข้าใกล้น่านน้ำเย็นบริเวณชายฝั่ง แต่นับว่าพายุไซโคลนอำพันมีความรุนแรงที่สุดในรอบหลาย 10 ปี โดยเป็น “ซูเปอร์ไซโคลน” ลูกที่สองที่เกิดขึ้นในบริเวณอ่าวเบงกอล นับตั้งแต่มีการจดบันทึก โดยพายุลูกนี้ได้สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนของประชาชนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งคลื่นพายุยังอาจดันน้ำทะเลให้หนุนสูงถึง 25 กม. รวมถึงทำให้เกิดเหตุน้ำท่วมในหลายเมืองด้วย

ก่อนหน้านี้ ทางการบังกลาเทศได้เร่งอพยพประชาชนกว่า 2.2 ล้านคนออกจากพื้นที่เสี่ยงไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว เช่นเดียวกับทางการอินเดียที่เร่งอพยพผู้คนเกือบ 3 แสนคนจากรัฐเบงกอลตะวันตกและอีกเกือบ 1.5 แสนคนจากรัฐโอริสสาไปยังศูนย์พักพิงเช่นกัน

การพัดเข้าถล่มของพายุไซโคลนอำพันครั้งนี้เป็นที่กังวลว่า อาจซ้ำเติมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะในเมืองแออัดอย่าง เมืองกัลกัตตาของอินเดียที่มีประชากรหนาแน่นและพบผู้ป่วยโควิด-19 แล้วเกือบ 1,500 ราย ซึ่งการอพยพผู้คนจำนวนมากไปรวมตัวกันในศูนย์พักพิงอาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ได้

อย่างไรก็ตาม ศูนย์พักพิงต่างพยายามจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการป้องกันโรค โดยเฉพาะหน้ากากอนามัยและน้ำยาฆ่าเชื้อไวรัส ให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้อพยพ รวมทั้งยังมีการห้ามการเดินทางของผู้อพยพเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย อย่างเช่นการระงับให้บริการรถไฟข้ามเมืองชั่วคราว