“ไวรัส” กระตุ้นปมขัดแย้ง “จีน-สหรัฐ” สงครามการค้าปะทุรอบใหม่

FILE PHOTO: REUTERS/Tyrone Siu/File Photo

ความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาเริ่มปะทุขึ้นนับตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เข้าดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐ โดยความขัดแย้งสะท้อนผ่านการเกิดขึ้นของ “สงครามการค้า” ระหว่างสองชาติ ก่อนจะสงบลงชั่วคราวภายหลังการลงนามในข้อตกลง “เฟสแรก” อย่างไรก็ตาม รากฐานของปัญหายังคงดำรงอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันกันเพื่อเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของ 2 มหาอำนาจ ขณะที่การระบาดของ “โควิด-19” จุดชนวนให้สงครามการค้ากลับมาปะทุอีกครั้ง

ก่อนหน้านี้ ทั้ง 2 ประเทศเห็นพ้องที่จะสงบศึกการค้าชั่วคราว ภายหลังสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าเฟสแรก ในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเดิมทีคาดว่าบรรยากาศความตึงเครียดน่าจะสงบลงไปถึงช่วงหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐช่วงปลายปีนี้ แต่การระบาดของโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 กลับทำให้บรรยากาศความขัดแย้งของ 2 มหาอำนาจกลับมาตึงเครียดรอบใหม่

ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า การระบาดของไวรัสทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสหรัฐและจีนตกต่ำลงถึงขีดสุดในรอบหลายทศวรรษ นอกจากจะเห็นการตอบโต้ทางคำพูดระหว่าง 2 ฝ่ายแล้ว รายงานยังระบุด้วยว่า รัฐบาลสหรัฐยังเตรียมแผนมาตรการตอบโต้จีน จากการเป็นต้นเหตุของสถานการณ์โรคระบาดในครั้งนี้ เช่น การเพิ่มมาตรการคว่ำบาตร รวมถึงการยกเลิกภาระหนี้สินของสหรัฐที่มีต่อจีน หรือการ “เบี้ยวหนี้จีน” อีกด้วย

นอกจากนี้ การระบาดของไวรัสยังทำให้เกิดกระแสชาตินิยมขึ้น โดยผลสำรวจซึ่งเปิดเผยเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ของสำนักวิจัยพิวแห่งสหรัฐพบว่า ชาวอเมริกันกว่า 66% มีมุมมองที่ “ไม่พอใจ” ประเทศจีน เนื่องจากเป็นต้นเหตุของการระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเลขที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่มีการเริ่มทำโพลเมื่อปี 2005

ขณะเดียวกันก็ชี้ว่า ชาวจีนก็ไม่พอใจสหรัฐอย่างมากเช่นกัน จากวาทกรรมเหยียดเชื้อชาติอย่าง “ไวรัสจีน” โดย “เดวิด ซไวก์” ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง ระบุว่า ความรู้สึกชาตินิยมของชาวจีนเพิ่มขึ้นจากการถูกเหยียดหยามโดยต่างชาติ ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ขยายความรู้สึกดังกล่าวเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองมากขึ้น

กระแสดังกล่าวเป็นสาเหตุทำให้รัฐบาล “ทรัมป์” หันมาเปิดศึกกับจีนอีกรอบ ก่อนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นช่วงปลายปี เพื่อสร้างความนิยมและกลบเกลื่อนปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ความขัดแย้งทางการค้าจึงกลับมาปะทุอีกครั้ง หลังจากสงบชั่วคราวนับตั้งแต่การเซ็นสัญญาการค้าเฟสแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามเทคโนโลยี ซึ่งเป็นประเด็นหัวใจสำคัญของความขัดแย้ง

เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้ประกาศมาตรการจำกัดการเข้าถึงอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ของ “หัวเว่ย” บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน ซึ่งนับเป็นการตัดบริษัทเทคโนโลยีของจีนออกจากห่วงโซ่การผลิตสินค้าเทคโนโลยีของโลก เนื่องจากอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ที่มีฐานการผลิตในสหรัฐและประเทศพันธมิตร

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์จีนได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้ในวันที่ 17 พ.ค. ระบุว่า การกระทำของสหรัฐเป็นความพยายามกีดกันบริษัทเทคโนโลยีของจีนออกจากระบบซัพพลายเชน ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อระบบห่วงโซ่การผลิตสินค้าเทคโนโลยีของโลก และจีน พร้อมดำเนินมาตรการตอบโต้ทุกวิถีทาง

หนังสือพิมพ์โกลบอล ไทมส์ รายงานโดยอ้างแหล่งข่าววงในของรัฐบาลจีนระบุว่า จีนเตรียมประกาศขึ้น “บัญชีดำ” บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติสหรัฐ เช่น แอปเปิล, ซิสโก้ และควอลคอมม์ โดยจำกัดการทำธุรกิจร่วมกับภาคธุรกิจจีน รวมถึงอาจดำเนินการไต่สวนบริษัทดังกล่าวตามกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ และกฎหมายการต่อต้านการผูกขาดของจีน นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังอาจยกเลิกการซื้อเครื่องบินโบอิ้งจากสหรัฐอีกด้วย

“ฟาง เสี่ยงตง” ผู้ก่อตั้ง “ไชน่าแล็บ” สำนักคิดทางด้านเทคโนโลยีของปักกิ่งชี้ว่า “สงครามการค้าเวอร์ชั่นสงครามเทคโนโลยีได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว” ซึ่งสงครามเทคโนโลยีระหว่าง 2 มหาอำนาจ อาจนำไปสู่สิ่งที่นักวิชาการเรียกว่า The Great Decoupling หรือการแบ่งห่วงโซ่การผลิตสินค้าเทคโนโลยีของโลก ออกเป็น 2 ระบบ

ล่าสุดวันที่ 18 พ.ค. “เอเชียน นิกเคอิ รีวิว” รายงานว่า บริษัทผู้ผลิตชิปอย่างไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ เมนูแฟคเจอริ่ง คอร์ป หรือ “ทีเอสเอ็มซี” ได้ประกาศยกเลิกคำสั่งซื้อชิปจากหัวเว่ย

ขณะเดียวกัน ทีเอสเอ็มซี ซึ่งนับเป็นผู้ผลิตชิปและป้อนสินค้าดังกล่าวให้กับบริษัทเทคโนโลยีทั่วโลก ได้ประกาศลงทุนสร้างโรงงานในรัฐแอริโซนาของสหรัฐ มูลค่ากว่า 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งบริษัทระบุว่าโรงงานดังกล่าวเป็นโรงงานผลิตชิปที่ทันสมัยที่สุดในโลก พร้อมระบุว่า การลงทุนในสหรัฐของทีเอสเอ็มซีจะเป็นการดึงการผลิตชิปกลับสู่สหรัฐ และเป็นการจำกัดการเข้าถึงอุปกรณ์เหล่านี้ของบริษัทจากจีน ถือเป็นสัญญาณสำคัญที่บ่งชี้ว่า การแยกห่วงโซ่อุปทานกำลังเกิดขึ้นแล้ว

การตัดสินใจเลือกข้างสหรัฐของทีเอสเอ็มซี ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติไต้หวัน อาจเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เนื่องจากไต้หวันเองก็ยังคงต้องพึ่งพาสหรัฐในการคานอิทธิพลของรัฐบาลจีน


แต่อย่างไรก็ดี The Great Decoupling จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นอน เนื่องจากประเทศอื่นคงไม่สามารถเลือกข้างได้ง่ายนัก หากยังต้องอิงผลประโยชน์กับทั้ง 2 มหาอำนาจ