‘ล็อกดาวน์’ แบบไหน ทำเศรษฐกิจเสียหายน้อยสุด

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

นงนุช สิงหเดชะ

นับจากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีอย่างน้อย 45 ประเทศทั่วโลกที่ใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการติดเชื้อ โดยส่วนใหญ่เริ่มล็อกดาวน์ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคม และมาถึงบัดนี้หลายประเทศเข้าสู่โหมดการคลายล็อกดาวน์เพื่อเปิดช่องหายใจให้กับภาคเศรษฐกิจ แต่ถึงกระนั้นก็ยังหวาดหวั่นว่าจะเกิดการระบาดซ้ำเมื่อประชาชนเริ่มทำตัวผ่อนคลาย หย่อนความระมัดระวัง

การที่หลายประเทศต้องเริ่มผ่อนคลายล็อกดาวน์เกิดจากแรงกดดันทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นหลัก เพราะหากล็อกดาวน์นานเกินไปเศรษฐกิจจะเสียหายมาก และประชาชนจะเริ่มทนไม่ไหวที่ต้องอยู่กับบ้านและทำกิจกรรมอะไรนอกบ้านแทบไม่ได้

เนื่องจากแต่ละประเทศมีมาตรการล็อกดาวน์แตกต่างกันไป ด้วยเหตุนั้นจึงทำให้นักเศรษฐศาสตร์เกิดความสนใจอยากศึกษาว่ามาตรการล็อกดาวน์แบบไหนน่าจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจน้อยที่สุด

เมื่อเร็ว ๆ นี้นักเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และคณะกรรมการบริหารธนาคารกลางสหรัฐ ได้เผยแพร่ผลการศึกษาความเกี่ยวพันระหว่างการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมโรคกับผลต่อเศรษฐกิจ โดยข้อมูลที่ใช้วิจัยเป็นข้อมูลเศรษฐกิจและประชากรของสหรัฐอเมริกา ซึ่งพบว่ากรณีไม่มีการล็อกดาวน์เลยจะสร้างความเสี่ยงสุดขีดต่อผลผลิตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อคนทำงานในเซ็กเตอร์ต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นยิ่งยวดต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้ว

หากพนักงานในเซ็กเตอร์ต่าง ๆ โดยเฉพาะ พนักงานระดับแกนหลัก (core workers) ติดเชื้อก็จะขาดคนทำงาน เศรษฐกิจก็จะดิ่งลงมาก โดยเป็นไปได้ที่จะดิ่งลง 30% ต่อเดือน ทางกลุ่มผู้วิจัยจึงแนะนำว่า เพื่อปกป้องเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด บรรดา core workers ในอุตสาหกรรมสำคัญ อย่างเช่น สุขภาพ อาหาร และการขนส่ง ต้องได้รับการแยกจากประชากรวัยทำงานอื่น ๆ

ผลการศึกษาชิ้นนี้ได้พิจารณานโยบายล็อกดาวน์หลาย ๆ แบบ แล้วประเมินว่าแต่ละแบบกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร แบบแรก กำหนดให้ core workers 15% และประชากรวัยทำงานในส่วนอื่น ๆ 40% ทำงานจากที่บ้าน และประชากรที่ไม่ได้อยู่ในวัยทำงาน 30% ถูกล็อกตัวไว้ที่บ้านเป็นเวลา 8 เดือน คาดหมายว่ารูปแบบนี้จะบรรเทาการหดตัวของเศรษฐกิจลงครึ่งหนึ่งเหลือ 15% ต่อเดือน เทียบกับการหดตัว 30% กรณีไม่มีมาตรการอะไรเลย

จิอันคาร์โล คอร์เซตติ อาจารย์เศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ หนึ่งในผู้ร่วมการศึกษาในครั้งนี้ระบุว่า ภายใต้นโยบายดังกล่าวข้างต้น ซึ่งถือว่าเป็นการล็อกดาวน์อย่างอ่อนเป็นเวลา 8 เดือน สัดส่วนการติดเชื้อ
สูงสุดของประชากรจะลดลงจาก 40% เหลือ 15% รูปแบบนี้จะทำให้เราไม่ต้องรอวัคซีน แต่ใช้วิธีเว้นระยะห่างเป็นเวลายาวนาน ขณะเดียวกัน ก็สามารถรักษาชีวิตประชาชนเอาไว้ได้

ดังนั้น รูปแบบแรกดังกล่าวซึ่งถูกเรียกว่าการล็อกดาวน์อย่างมีแบบแผน (structured lockdown) เป็นเวลา 8 เดือน น่าจะดีต่อเศรษฐกิจที่สุด และรักษาชีวิตประชาชนเอาไว้ได้ เพราะจะต้องไม่มีการแลกกันระหว่างสุขภาพกับเศรษฐกิจ

อีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเข้มงวดกว่ารูปแบบแรก กรณีนี้กำหนดให้ core workers 25% และพนักงานที่ไม่ใช่ core workers 60% ทำงานจากบ้าน และ 47% ของประชากรที่ไม่ได้อยู่ในวัยทำงานถูกล็อกตัวอยู่ที่บ้าน คาดหมายว่าจะทำให้เศรษฐกิจหดตัว 20% ต่อเดือน วิธีนี้จะสามารถรักษาระดับการติดเชื้อของประชากรที่ 1.5% อันเป็นระดับที่บริหารจัดการได้เป็นเวลา 18 เดือน เท่ากับช่วงเวลาที่คาดหมายว่าการพัฒนาวัคซีนจะแล้วเสร็จ

ส่วนรูปแบบที่ 3 เป็นการล็อกดาวน์เข้มข้นที่สุด กล่าวคือ 40% ของ core workers ทำงานจากที่บ้าน ส่วนประชากรอื่น ๆ ที่เหลือ 90% ถูกล็อกตัวอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 3 เดือน พบว่าวิธีนี้ให้ผลลัพธ์ที่แย่ต่อเศรษฐกิจพอ ๆ กับการไม่ล็อกดาวน์อะไรเลย

อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยย้ำว่ารูปแบบที่พวกเขาศึกษาดังกล่าวข้างต้น เหมาะกับประเทศพัฒนาแล้วเป็นส่วนใหญ่ พร้อมกันนั้นได้หมายเหตุเอาไว้ด้วยว่า มันไม่ใช่การพยากรณ์ หากแต่เป็นพิมพ์เขียวสำหรับนำไปวิเคราะห์ต่อ เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนอยู่มากเกี่ยวกับการระบาดของไวรัส