ไวรัสสร้าง ‘ทางแยก’ ธุรกิจพลังงาน 2 ทวีป

หนทางข้างหน้าของ “ธุรกิจพลังงาน” หลังยุคโควิด-19 ยังคงพร่ามัว มองไม่เห็นแนวโน้ม
ความต้องการและรูปแบบการใช้งานที่ชัดเจน ทำให้บริษัทพลังงานทั่วโลกต้องทบทวนและปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่กลับเกิดความแตกต่างระหว่างมุมมองของภาคธุรกิจพลังงาน 2 ฟากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก จนอาจเป็นทางแยกสำคัญของอุตสาหกรรมพลังงานโลกในอนาคต

รอยเตอร์สรายงานว่า มาตรการคุมโรคระบาด ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานในทุกอุตสาหกรรมลดฮวบอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการบิน ขนส่งทางบก และโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่แทบจะเป็นอัมพาตไปในทันที จนทำให้ราคาน้ำมันลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

ขณะที่ผลสำรวจของรอยเตอร์สเผยให้เห็นถึง ทิศทางการปรับตัวของภาคธุรกิจพลังงานระหว่างบริษัทยักษ์ใหญ่ในยุโรปและสหรัฐอเมริกาแบบคนละขั้ว โดยบริษัทพลังงานในยุโรปหลายรายที่เริ่มปรับตัวสู่การผลิตพลังงานสะอาดมาก่อนหน้านี้ เพื่อลดการใช้พลังงานฟอสซิลและลดการปล่อยมลพิษตามข้อกำหนดของสหภาพยุโรปภายใต้ความตกลงปารีส ที่ตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050

แม้ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทำให้ธุรกิจพลังงานจำเป็นต้องปรับลดแผนการลงทุนในปีนี้ ซึ่งยักษ์พลังงานยุโรปต่างลดระดับการลงทุนในกิจกรรมน้ำมันและก๊าซเป็นหลัก แต่ยังคงรักษาระดับหรือเพิ่มการลงทุนในพลังงานสะอาดมากขึ้น

“บีพี” บริษัทพลังงานของอังกฤษระบุว่า บริษัทจะยังรักษาระดับการลงทุนในโครงการคาร์บอนต่ำของปีนี้ที่ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐเช่นเดิม แม้ภาพรวมบริษัทจะปรับลดงบฯลงทุนลงถึง 20% ขณะที่ “รอยัลดัตช์เชลล์” ยักษ์พลังงานสัญชาติดัตช์-อังกฤษ ก็ยืนยันว่า จะยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ แม้จะมีการตัดงบฯการลงทุนลงอย่างมากเช่นกัน

ด้าน “โททาล” ยักษ์พลังงานของฝรั่งเศสที่ระบุว่า จะยังคงเดินหน้าแผนการลงทุน 1,500-2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในธุรกิจคาร์บอนต่ำ แม้ปีนี้จะตัดงบฯลงทุนโดยรวมไปถึง 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐสู่ระดับ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ ยังมี “อีควินอร์” ของนอร์เวย์ และ “เอนี” ของอิตาลี ที่ยังคงเดินหน้าแผนการเปลี่ยนไปสู่พลังงานสีเขียว โดยอีควินอร์ยืนยันว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแผนการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020-2021

ตรงกันข้ามกับทิศทางของ “บริษัทพลังงานสหรัฐ” ที่ยังคงมุ่งเน้นไปที่การผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลที่อัดฉีดเม็ดเงินอุดหนุนเข้าสู่อุตสาหกรรมผ่านการลดหย่อนภาษี นอกจากนี้ ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ยังถอนตัวออกจากความตกลงปารีส เพื่อเดินหน้าขยายอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลในสหรัฐอีกด้วย

“ไมค์ เวิร์ธ” ซีอีโอของ “เชฟรอน” ยักษ์พลังงานของสหรัฐกล่าวกับนักลงทุนว่า ความต้องการน้ำมันและก๊าซจะดีดตัวขึ้นหลังจากที่สถานการณ์โรคระบาดจบลง “โลกยังคงไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงแหล่งพลังงานครั้งใหญ่ในช่วงเวลาไม่นานเช่นนี้” ขณะที่ “เอ็กซอนโมบิล” บริษัทน้ำมันรายใหญ่ของสหรัฐอีกรายก็ยืนยันว่า แผนขับเคลื่อนธุรกิจจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

“บรูซ ดูกิด” หัวหน้าแผนกดูแลกรรมสิทธิ์ผู้ถือหุ้นของบริษัทจัดการการลงทุน “เฮอร์มีส” ชี้ว่า ความแตกต่างนี้อาจกลายเป็นทางแยกของอุตสาหกรรมพลังงานระหว่าง “ยุโรปและสหรัฐ” หลังจากที่เหตุการณ์ไวรัสผ่านพ้นไป พลังงานสะอาดอาจกลายเป็นแหล่งพลังงานหลักของโลก เนื่องจากผู้คนมีเวลาปรับตัวในช่วงนี้ และการใช้พลังงานสะอาดยังสอดรับกับข้อกำหนดจัดการมลพิษของหลายประเทศ แต่ในอีกด้าน ราคาที่ตกต่ำของพลังงานฟอสซิลในช่วงนี้อาจกลายเป็นแรงดึงดูดให้ผู้คนหันกลับมาใช้งานมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ เมื่อโลกกลับมาเดินเครื่องเศรษฐกิจอีกครั้ง