เฟดอัดฉีดหนุน ‘บริษัทซอมบี้’ ‘เสี่ยง’ แต่ ‘จำเป็น’

ภาพ Pixabay

บริษัทซอมบี้ คือบริษัทที่ไม่มีความสามารถในการทำ “กำไร” เพียงพอ สำหรับจ่าย “หนี้สิน” ที่มีสัดส่วนสูง ซึ่งบริษัทเหล่านี้ไม่มีความสามารถแข่งขันและควรจะยุบกิจการไป แต่กลับอยู่รอดได้ด้วยการช่วยเหลือของทางการ จากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจและการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้บริษัทซอมบี้มีจำนวนเพิ่มขึ้น จากที่ “ธนาคารกลางสหรัฐ” (เฟด) มีมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินเสริมสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจ

“บิสซิเนส อินไซเดอร์” รายงานว่า ก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19 บริษัทของสหรัฐมีการก่อหนี้ทั้งหมดราว 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และพบว่า 1 ใน 6 เป็นบริษัทซอมบี้ และการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้หลายธุรกิจไม่สามารถดำเนินการได้อย่างปกติ ซึ่งกระทบต่อการทำ “กำไร” โดยงานวิจัยของบลูมเบิร์กคาดการณ์ว่า ผลกำไรของบริษัทในตลาดหุ้น “เอส แอนด์ พี 500” จะลดลงถึง 42% ในช่วงไตรมาส 2/2020

แต่ขณะที่ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทลดลง แต่โอกาสการกู้ยืมกลับเพิ่มขึ้นจากมาตรการพยุงเศรษฐกิจของเฟด โดยเฉพาะมาตรการเข้าซื้อหุ้นกู้และกองทุนอีทีเอฟที่ลงทุนหุ้นกู้ ซึ่งเฟดเปิดช่องลงทุนแม้ว่าจะเป็น “จังก์บอนด์” ในกรณีดังกล่าวบลูมเบิร์กคาดการณ์ว่า ปีนี้ภาคเอกชนสหรัฐจะมีการออกหุ้นกู้ราว
1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และพบว่าบริษัทต่าง ๆ จะมีปัญหาในการทำกำไรต่อเนื่องในระยะยาว ทั้งมีภาระหนี้สูง

รายงานอ้างถึงธุรกิจ “เรือสำราญ” ที่ระดมทุนหุ้นกู้ถึง 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในไม่กี่สัปดาห์ รวมถึงธุรกิจการบินสามารถขายหุ้นกู้เพิ่ม 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในระยะเวลาสั้น ๆ เช่นกัน “ทอร์สเทิร์น เซลค” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก “ดอยช์แบงก์ เอจี” ชี้ว่า มาตรการพยุงตลาดของเฟดจะยิ่งสร้างความเสี่ยงการผิดชำระหนี้ในอนาคต

นอกจากนี้ มาตรการของเฟดยังทำให้เกิดแรงเก็งกำไรในตลาดหุ้นกู้ความเสี่ยงสูงขึ้นมา โดยซีเอ็นบีซีรายงานว่า กองทุนอีทีเอฟที่ลงทุนในหุ้นกู้ผลตอบแทนสูงอย่าง “เอสพีดีอาร์ บาร์เคลย์” ราคาเพิ่มขึ้นกว่า 18% นับตั้งแต่เฟดประกาศมาตรการอัดฉีดปลายเดือน มี.ค. ซึ่งมีความไม่แน่นอนสูง หากนักเก็งกำไรเกิดความไม่มั่นใจเพียงเล็กน้อยอาจส่งผลให้เกิดแรงเทขายจำนวนมหาศาล ซึ่งจะสร้างความปั่นป่วนในตลาด
การเงินได้

ทั้งนี้ ด้วยปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจตกต่ำมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เฟดคงไม่มีทางเลือกมากนักนอกจากการทำทุกวิถีทางเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่มาตรการเหล่านี้กลับสร้างความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้จำนวนมหาศาลขึ้นมาในอนาคต