เส้นทางวิบาก “การบินโลก” ล้มละลาย VS ฟื้นฟูกิจการ

FILE PHOTO: Photo by Patrick HAMILTON / AFP

ในสถานการณ์ปกติธุรกิจสายการบินรายใหญ่มักได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ในฐานะ “สายการบินแห่งชาติ” แต่สถานการณ์แพร่ระบาดของโรค “โควิด-19” ในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนก็ส่งผลให้รัฐไม่มีความสามารถมากพอที่จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือธุรกิจการบินได้อย่างเต็มที่เช่นเดิม การยื่นฟื้นฟูกิจการในศาลล้มละลายจึงกลายเป็นทางเลือกของสายการบินที่หวังว่าจะได้กลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง

บิสซิเนส อินไซเดอร์รายงานว่า นับตั้งแต่ต้นปีอุตสาหกรรมการบินเริ่มประสบความยากลำบาก เนื่องจากความต้องการเดินทางสู่เอเชียลดฮวบทันทีที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีนทวีความรุนแรงมากขึ้น ในช่วงปลายเดือน ม.ค. ส่งผลให้นักเดินทางจากทุกภูมิภาคหลีกเลี่ยงการเดินทางสู่จีนและประเทศเอเชียอื่น ๆ

แต่ไม่นานหลังจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในยุโรป อเมริกา และแอฟริกาก็เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลให้การเดินทางทั่วโลกหยุดชะงักลงทั้งหมด จากมาตรการ “ล็อกดาวน์” ปิดพรมแดนที่หลายประเทศทั่วโลกประกาศใช้

ในสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้ว่า การเดินทางด้วยเครื่องบินจะสามารถกลับมาอีกครั้งเมื่อใด แต่สายการบินยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายคงที่ ทั้งค่าดูแลรักษาเครื่องไปจนถึงค่าจ้างพนักงาน ทำให้สายบินจำนวนมากไม่มีกระแสเงินสดพอสำหรับขับเคลื่อนธุรกิจ และบางแห่งก็ถึงขั้นต้องประกาศ “ล้มละลาย” ปิดกิจการไปในที่สุด

3 แอร์ไลน์ปิดตัว “ล้มละลาย”

สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) ประมาณการว่า ผลกระทบจากโรคระบาดจะทำให้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกเสียหายอย่างน้อย 314,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สอดคล้องกับ “เซ็นเตอร์ฟอร์เอวิเอชั่น” (CAPA) บริษัทที่ปรึกษาสายการบินระดับโลกที่คาดการณ์ว่า ภายในสิ้นเดือน พ.ค.นี้ “สายการบินส่วนใหญ่ทั่วโลกจะเข้าสู่ภาวะล้มละลาย หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐหรือการแทรกแซงในภาคอุตสาหกรรม

ในช่วงแรก “สายการบินท้องถิ่น” ถูกจับตาว่าจะพบจุดจบก่อนใคร เริ่มจาก “ฟลายบี” (Flybe) สายการบินต้นทุนต่ำสัญชาติอังกฤษซึ่งมีฐานให้บริการทั่วภูมิภาคยุโรป ซึ่งประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องมานานหลายปี และเมื่อเจอผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้สถานการณ์ของบริษัทเลวร้ายหนักขาดกระแสเงินสดขั้นรุนแรง และไม่มีทางเลือกจนต้องประกาศล้มละลายและเข้าสู่กระบวนการพิทักษ์ทรัพย์เมื่อ 5 มี.ค. 2020

ตามมาด้วย “ทรานส์สเตตส์แอร์ไลน์ส” (Trans States Airlines) สายการบินท้องถิ่นรัฐมิสซูรีของสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศยุติให้บริการทั้งหมดเมื่อ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา เช่นเดียวกับ “คอมพาสส์แอร์ไลน์ส” (Compass Airlines) สายการบินท้องถิ่นในรัฐมินนิโซตา ซึ่งเดิมมีแผนจะควบรวมกิจการกับเอ็กซ์เพรส เจ็ต แอร์ไลน์ในช่วงสิ้นปี 2020 แต่หลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สายการบินก็ตัดสินใจประกาศล้มละลายและปิดกิจการถาวรเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

“เวอร์จิ้น-อาเวียงกา” ยื่นขอฟื้นฟู

ขณะที่สายการบินขนาดใหญ่ของหลายประเทศก็เริ่มประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง เช่นกัน หลังจากที่ต้องหยุดบินจากโควิด-19 แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการยื่นขอฟื้นฟูกิจการภายใต้กฎหมายล้มละลาย

ซึ่งขณะนี้ที่มียื่นต่อศาลแล้ว 2 สายการบิน คือ “เวอร์จิ้น ออสเตรเลีย” (Virgin Australia) สายการบินรายใหญ่อันดับ 2 ของออสเตรเลีย ได้ยื่นขอฟื้นฟูตามกฎหมายล้มละลายของออสเตรเลีย ซึ่งมีบทบัญญัติคล้ายบทบัญญัติที่ 11 (chapter 11) ของกฎหมายล้มละลายสหรัฐเมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้และปรับโครงสร้างธุรกิจ หลังจากที่รัฐบาลออสเตรเลียปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับสายการบิน

อีกรายก็คือ “อาเวียงกา” (Avianca) สายการบินรายใหญ่อันดับ 2 ในลาตินอเมริกา ซึ่งเป็นสายการบินเก่าแก่อันดับ 2 ของโลก ก็ได้ยื่นเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามบทบัญญัติที่ 11 ของกฎหมายล้มละลายสหรัฐเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2020 หลังจากผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ต้องหยุดให้บริการได้ตั้งแต่กลางเดือน มี.ค.เป็นต้นมา ส่งผลให้รายได้ของอาเวียงกาลดลงมากถึง 80% และอาเวียงกาคาดหวังว่าจะสามารถกลับมาให้บริการได้อีกครั้งหลังวิกฤตโควิด-19 ผ่านพ้นไป

ควบรวม VS ปิดกิจการ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลหลายประเทศยังคงมีความพยายามช่วยเหลือ “ธุรกิจการบิน” ให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้โดยเฉพาะการรักษาระดับการจ้างงานที่มีสัดส่วนค่อนข้างสูงในธุรกิจสายการบิน อย่างเช่น รัฐบาลสหรัฐ ที่ออกมาตรการเยียวยาธุรกิจสายการบินภายในประเทศด้วยงบประมาณ 58,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็น 29,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับอุดหนุนค่าจ้างพนักงาน และอีก 29,000 ล้านดอลลลาร์สหรัฐสำหรับดำเนินกิจการ

แม้จะช่วยให้สายการบินใหญ่ของสหรัฐยังคงรักษาธุรกิจไว้ได้ แต่คงไม่เพียงพอที่จะรักษาสายการบินทั้งหมดไว้ได้ “อเล็กซานเดอร์ เดอ จูนิแอค” ผู้อำนวยการและซีอีโอของไออาต้าชี้ว่า สายการบินจำนวนมากของสหรัฐกำลังทรุดหนักยากที่จะพยุงกิจการ ซึ่งอาจทำให้ทั้งสายการบินท้องถิ่นและสายการบินระหว่างประเทศจำนวนมากของสหรัฐจำเป็นจะต้องควบรวมกิจการหรือปิดตัวลงในที่สุด

“ลุฟท์ฮันซ่า” ขอรัฐบาลอุ้ม

ขณะที่ในส่วนของ “ลุฟท์ฮันซ่า” (Lufthansa) สายการบินรายใหญ่ที่สุดของเยอรมนี ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเยอรมันมูลค่ากว่า 9,000 ล้านยูโร แลกกับการให้รัฐบาลเข้าถือหุ้น 20% ล่าสุดรอยเตอร์สรายงานว่า รัฐบาลเยอรมันและผู้บริหารของลุฟท์ฮันซ่าสามารถบรรลุข้อตกลงได้แล้วเมื่อวันที่ 25 พ.ค. แต่ยังคงต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับดูแลกองทุนช่วยเหลือของเยอรมัน รวมทั้งคณะกรรมการบริหารของลุฟท์ฮันซ่าและคณะกรรมาธิการยุโรปอีกครั้ง

รวมทั้ง “แอร์ฟรานซ์-เคแอลเอ็ม” (Air France-KLM) สายการบินใหญ่ถือหุ้นโดยรัฐบาลฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ที่รัฐบาลฝรั่งเศสได้ให้ความช่วยเหลือค้ำประกันเงินกู้ และการปล่อยสินเชื่อโดยไม่คิดดอกเบี้ยให้กับแอร์ฟรานซ์รวมกว่า 7,660 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้าน “ไอเอจี” (IAG) เจ้าของ “บริติช แอร์เวย์ส” (British Airways) สายการบินใหญ่ของสหราชอาณาจักร ก็ได้รับเงินช่วยเหลือด้านสินเชื่อจากรัฐบาลอังกฤษมูลค่ากว่า 371 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงิน

เช่นเดียวกับ “สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส” (Singapore Airlines) ที่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลสิงคโปร์รวมกว่า 19,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ผ่านกองทุนแห่งชาติ “เทมาเส็ก” ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยเทมาเส็กจะซื้อหุ้นกู้แปลงสภาพของสายการบินเพื่อเพิ่มทุนประมาณ 15,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และใส่เงินช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกราว 4,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ด้วย

ขณะที่ “การบินไทย” สายการบินแห่งชาติของไทยก็กำลังอยู่ในเส้นทางการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายเช่นกัน และนี่คือเส้นทางวิบากของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกที่กำลังเผชิญ