รสนิยมดูหนัง “คนจีน” เปลี่ยน กระทบรายได้ผู้สร้างฮอลลีวูด

ผู้บริหารของค่ายภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกาอย่าง “พาราเมาท์ พิคเจอร์ส” อาจทำใจ มองข้ามรายได้จากภาพยนตร์เรื่อง “ทรานส์ฟอร์เมอร์ส : เดอะ ลาส ไนท์” ในบ้านเกิด ที่ทำเงิน ได้เพียง 69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน 5 วันแรกของการออกฉาย (จากเงินทุนสร้างและตลาดกว่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ไปได้อีกครั้ง เนื่องจากสามารถทำเงินชดเชยในประเทศจีนได้กว่า 123 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ภาพยนตร์ชุดทรานส์ฟอร์เมอร์ส ทำรายได้ยอดเยี่ยมในประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดภาพยนตร์ใหญ่อันดับ 2 ของโลก แม้จะมีรายได้ที่ค่อนข้างแย่ในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ปี 2007 ทรานส์ฟอร์เมอร์ส ภาคแรก เป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดในจีน ขณะที่ในอเมริกามีรายได้มาอันดับ 3 ถัดมาในปี 2009 ทรานส์ฟอร์เมอร์ส ภาค 2 สามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นเท่าตัวในจีน แม้ว่าจีนจะจำกัดเวลาฉายของภาพยนตร์ต่างประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดการฉายแข่งกับภาพยนตร์จีน

บลูมเบิร์ก รายงานว่า สาเหตุที่หนังฮอลลีวูดได้รับความนิยมในจีน เพราะเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ กราฟฟิก (ซีจี) มาตรฐานด้านการออกแบบยังไม่เทียบเท่ามาตรฐานฮอลลีวูดแม้แต่น้อย และที่สำคัญการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ของรัฐบาลจีน ยิ่งทำให้หนังจีนที่ถูกสร้างไม่มีความหลากหลายเท่าที่ควร

บรรดาผู้บริหารของพาราเมาท์ และสตูดิโอฮอลลีวูดอื่น ๆ จึงเชื่อถือในกำลังบริโภคของผู้ชมชาวจีน และเชื่อว่าผู้ชมชาวจีนสามารถดูภาพยนตร์ที่ไม่ซีเรียส ไร้สาระ และเรื่องที่ไม่มีเหตุผลไปได้เรื่อย ๆ เช่น ภาพยนตร์เกี่ยวกับการต่อสู้ของหุ่นยนต์ หรือหนังแอ็กชั่นอย่าง “xXx: The Return of Xander Cage” ซึ่งทำรายได้ 347 ล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วโลก โดย 47% เป็นรายได้จากจีน

อย่างไรก็ตามความหวังที่จะอาศัยยอดผู้ชมชาวจีนคอยช่วยเหลือเรื่องรายได้ต่อไปเหมือนใกล้จะหมดลง ถึงเวลาที่ผู้สร้างฮอลลีวูดต้องพิจารณาใหม่อีกที ว่าควรทำอย่างไรต่อไป 2 ปีที่แล้ว มีดราม่าในโลกอินเทอร์เน็ตจีนจากบทความชิ้นหนึ่งที่ระบุว่า จีนเหมือนเป็นที่ทิ้งขยะของหนังฮอลลีวูด ในเวลานั้นชาวเน็ตจีนออกมาตอบโต้ ปกป้องหนังฮอลลีวูดว่า “หนังห่วย ๆ ที่จีนสร้าง แย่ยิ่งกว่าหนังห่วย ๆ ของฮอลลีวูดเสียอีก”

แต่ปีนี้เริ่มเห็นสัญญาณเปลี่ยนไปเล็กน้อย เพราะแม้ภาพยนตร์เรื่องทรานส์ฟอร์เมอร์ส : เดอะ ลาส ไนท์ จะทำเงินได้กว่าร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐในจีน แต่ตัวเลขจริง ๆ ที่ทางค่าย ผู้สร้างคาดหวังคือ 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตัวเลขที่คาดหวังนี้ก็ยังน้อยกว่ารายได้ที่ได้จากหนังภาคก่อนในปี 2014 ถึง 14%

นี่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ชี้ว่า รสนิยมการดูหนังของชาวจีนกำลังจะเปลี่ยนไป ภาพยนตร์ฮอลลีวูดเข้ามาในจีนและได้รับความนิยมผ่านแผ่นซีดีเถื่อนช่วงปี 1990s-2000s อย่างไรก็ตามปัจจุบันโลกได้ถูกเชื่อมต่อด้วยอินเทอร์เน็ต การรับสื่อผ่านหน้าจอมือถือหรือสตรีมมิ่งวิดีโอ ได้นำเสนอทางเลือกการชมสื่อบันเทิงที่ “หลากหลายมากขึ้น” แก่ชาวจีน

ชาวจีนจึง “เลือก” รับสื่อในสิ่งที่คิดว่าจ่ายเงินแล้วจะคุ้ม นอกจากหนังฮอลลีวูดที่ได้รับผลกระทบแล้ว หนังบอกซ์ออฟฟิศของจีนเองเมื่อหน้าร้อนปีที่แล้ว ก็มีรายได้ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี

ขณะที่ปีนี้ มีเรื่องน่าเซอร์ไพรส์เกิดขึ้นเมื่อภาพยนตร์ที่ไม่ใช่ประเภทไซ-ไฟ แอดเวนเจอร์ อย่าง “Dangal” ภาพยนตร์เกี่ยวกับครอบครัวชาวอินเดีย ที่สะท้อนถึงการต่อสู้ของหญิงสาว 2 คนต่อบทบาททางเพศดั้งเดิม ได้รับการยกย่องอย่างมากในจีน ประเด็นการกดขี่ผู้หญิง ก็เป็นหนึ่งเรื่องที่ยังคงเป็นปัญหาลึกซึ้งของจีน ส่งผลให้ Dangal ทำรายได้ไปได้ 190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นแท่นเป็นหนังทำเงินอันดับ 4 ในจีนประจำปีนี้

หากในอนาคต จีนเปิดโควตาให้หนังชาติอื่น ๆ มากขึ้น ผู้สร้างจากฮอลลีวูดน่าจะกระทบหนัก และต้องแข่งขันสูงขึ้นกับหนังประเภทดราม่าที่มีความซับซ้อนมากขึ้น หรือหนังนอกกระแสภายในประเทศตัวเองมากขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ตาม ก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าหนังฮอลลีวูดจะล้มหายตายจากไปจากจีน เพราะภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่ทำรายได้ได้ดีในทั่วโลก ก็ยังทำรายได้ดีในประเทศจีน ด้วยเนื้อหาที่ดี เช่น ภาพยนตร์ชุด “ฟาสต์ แอนด์ ฟิวเรียส”


นี่จึงอาจจะเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้สร้างจากฮอลลีวูดต้องถอดบทเรียนนับตั้งแต่วันนี้ว่าจะทำอย่างไรให้ไม่เสียฐานคนดูจากแผ่นดินมังกรที่รสนิยมการดูหนังค่อย ๆ เปลี่ยนไป รวมถึงคนดูทั่วโลก