โศกนาฏกรรม “อเมริกา” เศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลก

REUTERS/Brian Snyder

สหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลก กำลังกลายเป็นประเทศที่ได้รับความเสียหายหนักสุดจากวิกฤตต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามาในปี 2020 จากการระบาดของโควิด-19 มาจนถึงความวุ่นวายล่าสุดจากปมการเหยียดสีผิวที่ปะทุ จนเป็นการประท้วงใหญ่ทั่วประเทศ รวมถึงนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่สร้างความร้าวฉานกับ “จีน” ก็ยิ่งซ้ำเติมให้สหรัฐพบกับความบอบช้ำทางเศรษฐกิจ สังคมมากยิ่งขึ้น

จากโควิดสู่เหยียดสีผิว

ขณะที่ “สหรัฐ” ครองแชมป์ประเทศที่มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 สูงที่สุดในโลก ล่าสุดมีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 1.8 ล้านคน และยอดผู้เสียชีวิตทะลุ 1 แสนรายไปแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้หลายรัฐได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมไวรัส ทำให้ธุรกิจหลายแห่งของสหรัฐต้องหยุดชะงัก ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

โดยปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานในช่วง 10 สัปดาห์ที่ผ่านมาสูงกว่า 40 ล้านคน โดยธุรกิจท่องเที่ยวและบริการเลิกจ้างพนักงานมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 40% ของผู้ว่างงานทั้งหมด

ขณะที่ผลกระทบจากโควิด-19 ยังเป็นปัญหาใหญ่ที่สหรัฐยังไม่สามารถจัดการได้ แต่สัปดาห์ที่ผ่านมาก็เกิดเหตุการณ์ที่กลายเป็นชนวนประท้วงและจลาจลทั่วประเทศ รอยเตอร์สรายงานว่า กรณีการจับกุม “จอร์จ ฟลอยด์” ชายแอฟริกันอเมริกันผิวสีที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าใช้ธนบัตรปลอม ซึ่งปรากฏคลิปวิดีโอเมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา ขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาวในเมืองมินนีแอโพลิส รัฐมินนิโซตา ใช้เข่ากดไปที่ต้นคอของฟลอยด์จนเขาเสียชีวิตในเวลาต่อมา

เหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ตำรวจผิวขาวกระทำการเกินกว่าเหตุ เนื่องจากทัศนคติเหยียดสีผิว ส่งผลให้มีผู้ไม่พอใจจำนวนมากออกมาชุมนุมเรียกร้องความยุติธรรมและเรียกร้องให้ยุติการเลือกปฏิบัติทางสีผิวด้วย โดยการประท้วงได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศ ส่งผลให้มีอย่างน้อย 25 เมืองของสหรัฐต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

ระเบิดเวลา “ความเหลื่อมล้ำ”

ความไม่พอใจของกลุ่มผู้ชุมนุมในสหรัฐไม่เพียงต่อการใช้ความรุนแรง แต่รวมถึงทัศนคติการเหยียดสีผิวที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมอเมริกัน ซึ่งส่งผลให้ชาวแอฟริกันอเมริกันไม่ได้รับโอกาสในการเข้าถึงคุณภาพชีวิตได้อย่างเท่าเทียมกับชาวผิวขาวมาโดยตลอด ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐยังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อชาวผิวสีด้วย

สาเหตุสำคัญมาจาก “ความเหลื่อมล้ำ” ในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข ทำให้ชาวผิวสีส่วนใหญ่มีปัญหาด้านสุขภาพ “เจอโรม อดัมส์” ผู้บัญชาการกรมแพทย์ทหารสหรัฐเปิดเผยว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงและต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจำนวนมากเป็นชาวผิวสี เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่มีปัญหาสุขภาพอยู่เดิม ทำให้ทรุดหนักเมื่อได้รับเชื้อไวรัส

แม้รายงานจะไม่ได้ระบุว่า ชาวผิวสีที่ถูกเลิกจ้างมีจำนวนเท่าใด แต่แน่นอนว่าคนกลุ่มนี้เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ เนื่องจากชาวผิวสีจำนวนมากอยู่ในกลุ่มแรงงานที่มีการเลิกจ้างสูง รวมถึง “จอร์จ ฟลอยด์” ก็เป็นหนึ่งในบุคคลที่ถูกเลิกจ้างด้วยเช่นกัน

เศรษฐกิจสหรัฐดิ่งเหว

บิสซิเนสอินไซเดอร์รายงานว่า “แมตทิว ลุซเซตที” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์สหรัฐของ “ดอยช์แบงก์” คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐ ในไตรมาส 2/2020 อาจดิ่งลงถึง 40%

โดยระบุว่า ไตรมาส 1/2020 ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐยังไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากนัก แต่จีดีพีของสหรัฐก็หดตัวถึง 4.8% อย่างไรก็ตาม ดอยช์แบงก์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของสหรัฐจะดีดตัวขึ้นในไตรมาสที่ 3/2020 ราว 15% และในไตรมาสที่ 4/2020 ราว 6.5% ซึ่งจะทำให้จีดีพีของสหรัฐตลอดทั้งปี 2020 หดตัวลงประมาณ 8%

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นการคาดการณ์ก่อนที่จะเกิดเหตุการประท้วงรุนแรงจนกลายเป็นจลาจลไปทั่วสหรัฐ ในจังหวะที่หลายรัฐกำลังเตรียมที่จะคลายล็อกดาวน์ แต่ก็ยังไม่สามารถออกมาทำกิจกรรมได้เช่นเดิม ซึ่งก็จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐให้หนักหน่วงยิ่งขึ้น

“ทรัมป์” จะอยู่หรือไป

ท่ามกลางวิกฤตเช่นนี้ ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ยังราดน้ำมันลงบนกองไฟ ด้วยการข่มขู่ผู้ชุมนุมผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจอาจเริ่มยิงได้ทันที หากมีการปล้นสะดมเกิดขึ้น ซึ่งนอกจากจะไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้มีเสียงวิจารณ์จำนวนมาก รวมถึงทวิตเตอร์ที่ได้ปิดกั้นการเข้าถึงข้อความดังกล่าวของทรัมป์ในทันที

นอกจากนี้ ผู้นำสหรัฐยังเปิดศึกรอบด้านโดยเฉพาะกับจีน ในการที่จีนเดินหน้าออกกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ เพื่อใช้ควบคุมการชุมนุมประท้วงใน “ฮ่องกง” ซึ่งสร้างความกังวลว่าจะกระทบสิทธิเสรีภาพ ส่งผลให้ทรัมป์ลงนามคำสั่งเริ่มกระบวนการถอดถอนสิทธิพิเศษทางการค้าที่ให้กับฮ่องกง ในวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา แม้จะมีคำเตือนว่าจะเป็น “ดาบ 2 คม” สร้างความเสียหายให้กับภาคธุรกิจของสหรัฐด้วย ซึ่งยิ่งทวีความตึงเครียดระหว่าง 2 ชาติมหาอำนาจที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนาน นับจากการปะทุขึ้นของสงครามการค้าในปีที่ผ่านมา


“โดนัลด์ ทรัมป์” คงไม่คาดคิดมาก่อนว่า ในช่วงสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก จะต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตหนักหนาสาหัสที่แก้ไม่ตก และไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลงโดยง่าย ขณะที่คะแนนนิยมที่ยังร่วงต่อไปเช่นนี้ก็เป็นไปได้ว่า เก้าอี้ประธานาธิบดีสมัยที่ 2 อาจหลุดลอยไปจากมือทรัมป์ ในการเลือกตั้งปลายปีนี้