อนาคตฮ่องกง ไม่มี “แฮปปี้เอ็นดิ้ง”

(AP Photo/Vincent Yu)
คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามประกาศใช้กฎหมาย 2 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในฮ่องกงโดยเฉพาะ ฉบับแรกเป็นกฎหมายห้ามขายกระสุน รวมถึงวัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ในการปราบจลาจลให้กับสำนักงานตำรวจฮ่องกง

อีกฉบับมีนัยสำคัญสูงกว่า และกลายเป็นเครื่องมือสำหรับทางการสหรัฐอเมริกาในการกดดันให้จีนปรับเปลี่ยนนโยบายต่อเขตปกครองพิเศษของตนแห่งนี้ กฎหมายฉบับนี้เรียกว่า “รัฐบัญญัติว่าด้วยประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในฮ่องกง ปี 2019”

การลงนามดังกล่าวนี้มีขึ้น 1 วัน ก่อนหน้าที่สภาประชาชนจีนจะลงมติให้ความเห็นชอบต่อร่างกฎหมายความมั่นคงในฮ่องกง ฉบับใหม่ ซึ่งเอื้อต่อการเข้าไปดำเนินการใด ๆ ในฮ่องกง ของเจ้าหน้าที่จากจีนได้มากขึ้น รวมทั้งการเข้าไปปราบปรามขบวนการต่อต้านจีน และเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง ซึ่งนับวันยิ่งแข็งแกร่งขึ้นมาก นับตั้งแต่เริ่มต้นจุดชนวนการประท้วงระลอกใหม่เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว

รัฐบัญญัติว่าด้วยประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ดังกล่าวนี้ มีบทบัญญัติกำหนดให้รัฐบาลต้องทบทวน “สถานะพิเศษ” ของฮ่องกง ที่สหรัฐอเมริกามอบให้มานานกว่า 20 ปี ในทุก ๆ ปี โดยหากเกิดความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในแง่ของอิสระและเสรีภาพขึ้นในฮ่องกง ก็มีบทบัญญัติให้อำนาจรัฐบาลอเมริกันตอบโต้ได้ ตั้งแต่ขนานเบา อย่างเพิกถอนการออกวีซ่า ไปจนถึงสถานหนัก คือ ถอดถอนฮ่องกง พ้นจากสถานะพิเศษดังกล่าว

ในวันเดียวกับที่ลงนามประกาศใช้กฎหมายนี้ ทรัมป์ให้สัมภาษณ์ไว้ด้วยว่า ฮ่องกง ในสายตาของสหรัฐอเมริกา ไม่ได้เป็นเขตปกครองตนเองที่มีอิสระอีกต่อไป หลังจากที่ทางการจีนชิงเปิดฉากใช้นโยบายเชิงรุกเพื่อกำราบการต่อต้านที่นั่น ท่าทีของทรัมป์เหมือนกับจะบอกกลาย ๆ ว่า การตอบโต้นั้นมีแน่ ขึ้นอยู่กับว่าเมื่อไหร่ แล้วก็อย่างไรเท่านั้นเอง

เดวิด สติลเวลล์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ตอกย้ำเรื่องนี้ว่า จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อให้ทางการปักกิ่ง “เปลี่ยนพฤติกรรม” แต่ในเวลาเดียวกันก็ยอมรับกลาย ๆ ว่า กระทรวงต่างประเทศสหรัฐ “ไม่ได้คาดหวัง” ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้มากนัก

ปัญหาสำคัญก็คือ จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครชัดเจนว่า สหรัฐอเมริกาจะเล่นงานฮ่องกงในทำนองไหน

ฮ่องกงแม้จะไม่มีความหมายต่อเศรษฐกิจจีนเหมือนเมื่อครั้งที่มีการส่งมอบคืนให้กับทางการจีนใหม่ ๆ ในปี 1997 ตอนนั้นเศรษฐกิจของฮ่องกงมีมูลค่าสูงกว่า 16% ของจีดีพีจีนทั้งประเทศ แต่ตอนนี้ลดลงเหลือเพียงไม่ถึง 3% เท่านั้น แต่ก็ยังคงบทบาทสำคัญในฐานะที่เป็นช่องทางให้บรรดาธนาคารและบริษัทในจีนสามารถระดมทุนในรูปของเงินดอลลาร์ได้ ผ่านทั้งตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ก็การออกพันธบัตรที่นี่

ถ้าความมั่นคงทางการเมืองในจีนแผ่นดินใหญ่ขึ้นอยู่กับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจแล้วละก็ ฮ่องกงก็เหมือนจุดสลบของจีนดี ๆ นี่เอง

นักวิชาการอย่าง จอร์จ แม็กนัส ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีนจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ชี้ให้เห็นว่า ถ้าสหรัฐอเมริกาจะใช้ฮ่องกงเป็นอีกแนวรบหนึ่งในการกดดันจีนละก็ จำเป็นต้องทำให้จีน “รู้สึกเจ็บปวด” ด้วยการเล่นงานสถานหนักที่สุด นั่นถือถอดถอน “สถานะพิเศษ” ของฮ่องกง ไปในทันที

แต่นักวิชาการบางคน รวมทั้งนักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งเชื่อว่า สหรัฐอเมริกาคงไม่บุ่มบ่ามตัดสินใจงัดเอา “มาตรการสุดท้าย” ที่รุนแรงที่สุดมาใช้เร็วถึงขนาดนี้

บอนนี เกลเซอร์ นักวิชาการจากศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศชี้ว่า กรณีฮ่องกงไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งอื่นใดที่สหรัฐมีกับจีน แต่เป็นเพียงแค่การ “ละเมิดสนธิสัญญา” ที่ตกลงกับอังกฤษไว้ ว่าด้วยการให้อิสระต่อฮ่องกงเมื่อครั้งส่งมอบคืนเท่านั้น

นั่นหมายความว่า เพียงแค่การ “ยิงเตือน” ก็น่าจะทำให้จีนตระหนักได้ว่า ไม่ควรเปิดฉากรุกเต็มพิกัดต่อชาวฮ่องกงแล้ว

ปัญหาก็คือว่า ไม่ว่าสถานการณ์ในยามนี้จะลงเอยในทางไหน สหรัฐอเมริกาถอนสถานะพิเศษหรือไม่ก็ตาม จีนจะยอมเลิกราการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงใหม่หรือไม่ก็ตามที ฮ่องกงไม่มีวันเหมือนเดิม และทุกอย่างไม่มีวันจบลงแบบแฮปปี้กันถ้วนหน้า แต่ความเสียหายจะเกิดขึ้นกับทุกฝ่ายมากกว่า ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเสียหายมากน้อยกว่ากันเท่านั้นเอง

เหตุผลเพราะที่ผ่านมา การประท้วงก่อเหตุปะทะกับเจ้าหน้าที่ก็สะท้อนความ “ไร้เสถียรภาพ” ของฮ่องกงอยู่พอแรงแล้ว ยิ่งถ้าหากเกิดการบังคับใช้กฎหมายใหม่ขึ้นมา แล้วเกิดปัญหาประท้วง-ปะทะหนักหน่วงมากขึ้นกว่าเดิม ไม่ต้องรอให้สหรัฐถอดถอนสถานะพิเศษ นักลงทุนทั้งหลายที่เคยใช้ฮ่องกงเป็น “เกตเวย์” สู่จีนก็เผ่นหนีกันแล้ว

มีโอกาสสูงมากที่ฮ่องกงจะสูญเสียสถานะการเป็น “ศูนย์กลางทางการเงินและการค้าระหว่างประเทศ” ในกรณีดังกล่าว

ถ้าสหรัฐอเมริกายกเลิกสถานะพิเศษ ก็อาจหมายถึงการสูญเสียคู่ค้ามูลค่า 38,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี ไปโดยปริยาย เเถมยังเป็นคู่ค้าที่สหรัฐอเมริกาได้เปรียบดุลการค้ามากที่สุดอีกด้วย นอกเหนือจากนั้น จะส่งผลสะเทือนถึงบริษัทอเมริกันราว 1,300 บริษัท รวมทั้งสถาบันการเงินสำคัญ ๆ ของสหรัฐทุกแห่งที่มาเปิดกิจการอยู่ที่นี่ครบถ้วน

นี่ยังไม่นับถึงความเดือดร้อนของชาวฮ่องกง ที่สหรัฐอเมริกาเป็นห่วงนักเป็นห่วงหนาด้วยอีกต่างหาก