‘แบงก์ชาติยุโรป’ พิจารณาตั้ง Bad Bank อุ้มหนี้เสีย 500,000 ล้านยูโร

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานอ้างแหล่งข่าวเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (10 มิ.ย. 2020) ซึ่งระบุว่าทางธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) อยู่ระหว่างการพิจารณาจัดตั้ง Bad Bank วงเงินหลายแสนล้านยูโร เพื่อเข้าอุ้มหนี้เสียในระบบการเงินของสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากเนื่องด้วยผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัสโควิด-19

โดย แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ไอเดียการจัดตั้ง Bad Bank ดังกล่าวจะถูกนำมาหารือร่วมกันระหว่าง “คริสตีน ลาการ์ด” ประธานอีซีบี, ธนาคารพาณิชย์และเจ้าหน้าที่ของสหภาพ ในช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า นอกจากนี้แหล่งข่าวยังระบุอีกว่าวงเงินสำหรับการเข้าอุ้มหนี้เสียอาจพุ่งขึ้นสูงถึงหลักล้านล้านยูโร

ขณะที่แหล่งข่าวอีกราย กล่าวว่า ทางธนาคารกลางจะให้กองทุน European Stability Mechanism (เอ็มเอสเอ็ม) ซึ่งเป็นกลไกที่คอยให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศสมาชิกเข้ามาเป็นผู้ค้ำประกันให้กับทาง Bad Bank ของอีซีบี หลังจากนั้นทาง Bad Bank ก็จะออกหุ้นกู้ซึ่งธนาคารพาณิชย์จะเป็นผู้ลงทุนเพื่อแลกกับการขายหนี้เสียให้กับ Bad Bank โดยแหล่งข่าวกล่าวทิ้งท้ายว่า “หุ้นกู้ดังกล่าวสามารถนำมาเป็นหลักทรัพย์การค้ำประกันเงินกู้ของทางธนาคารกลางยุโรปได้”

ทั้งนี้ สหภาพยุโรปเผชิญกับหนี้สินจำนวนมหาศาลนับตั้งแต่ก่อนการระบาดแล้ว โดยข้อมูลจากทางการ ระบุว่า หนี้เสียของสมาชิกอียูมีรวมกันทั้งหมดมากกว่า 500,000 ล้านยูโร โดยประกอบด้วย หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อธุรกิจ เป็นต้น โดยไอเดียการตั้ง Bad Bank เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อน แต่ถูกกลับนำมาพิจารณาอีกครั้งหลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างหนัก

อย่างไรก็ตามแนวทางดังกล่าวยังต้องได้รับการสนับสนุนจากทาง “เยอรมนี” ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของกลุ่ม รวมถึงอีกหลายประเทศที่มีสถานะทางการคลังที่แข็งแกร่งจากการดำเนินนโยบายทางการคลังที่เข้มงวด ซึ่งประเทศเหล่านี้มีนโยบายที่ต่อต้านแนวทางการ “ร่วมกันรับผิดชอบหนี้สิน” (Sharing Debt) ระหว่างประเทศสมาชิก