หมดปัญหา ‘ตั๊กแตน’ อาละวาด ‘ปากีสถาน’ จับทำอาหารเลี้ยงไก่

วันที่ 12 มิถุนายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานอ้างข้อมูลจากสำนักข่าวเอเอฟพี ที่ระบุว่า รัฐบาลปากีสถานสนับสนุนให้เกษตรกรและชาวบ้านจับตั๊กแตนมาแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดีสำหรับไก่ หลังปากีสถานประสบปัญหาตั๊กแตนอาละวาด กัดกินทำลายพืชไร่ จนเกษตรกรเดือดร้อนหนัก

นายอิมราน ข่าน นายกรัฐมนตรีปากีสถาน ได้ริเริ่มโครงการนำร่องในแคว้นปัญจาบ โดยให้ประชาชนจับตั๊กแตนทะเลทรายมาตากแห้งและบด เพื่อนำมาผสมอาหารเลี้ยงไก่

หลังจากเกษตรกรพยายามกำจัดตั๊กแตนที่เข้ามาปั่นป่วนพืชไร่ปากีสถานมานาน 25 ปีแล้ว ส่งผลให้รายได้เกษตรกรฐานะยากจน ผลผลิตยิ่งลดน้อยลงด้วย

ด้านนายมูฮัมหมัด เคิร์ดชิด เจ้าหน้าที่กระทรวงอาหารและโจฮาร์ อาลิ นักไบโอเทค ผู้คิดโครงการดังกล่าวขึ้นมา เผยว่าเห็นต้นแบบจากเยเมน ซึ่งเป็นประเทศที่ตกอยู่ในสงคราม รัฐบาลเยเมนจึงแนะนำให้ประชาชนหันไปรับประทานตั๊กแตน ซึ่งมีโปรตีนสูง ท่ามกลางภาวะการขาดแคลนอาหาร

สาเหตุที่นักวิจัยเลือกเขตโอการา ในแคว้นปัญจาบ เพื่อทำโครงการนำร่อง เพราะเกษตรกรที่นี่ไม่ได้ใช้ยาฆ่าแมลง ตั๊กแตนจึงปลอดภัยสำหรับการบริโภค

โดยเริ่มจากการสอนให้เกษตรกรรู้จักการจับตั๊กแตน ซึ่งจะใช้ตาข่ายจับไม่ได้ ต้องอาศัยเวลากลางคืน ฝูงตั๊กแตนจะมาเกาะต้นไม้และพืช จึงง่ายต่อการ “ตัก” เพราะพวกมันอยู่นิ่งๆ ท่ามกลางอากาศเย็น จนกระทั่งแสงอาทิตย์เริ่มจับขอบฟ้า

แม้โครงการนี้ไม่ประสบความสำเร็จในคืนแรก แต่เมื่อล่วงเข้าสู่คืนที่ 3 มีเกษตรกรหลายร้อยคนที่สามารถจับตั๊กแตนได้จนเต็มกระสอบ เกษตรกรได้เงินค่าจับตั๊กแตน 20 รูปี หรือประมาณ 4 บาท ต่อ 1 กิโลกรัม ชาวบ้านจึงแห่ออกมาจับตั๊กแตนกันทั้งคืน

เกษตรกรหญิงคนหนึ่ง ซึ่งถูกตั๊กแตนกัดกินพืชผลการเกษตรจนหมดเกลี้ยง เล่าว่าได้เงินเลี้ยงลูก 1,600 รูปี หรือ ประมาณ 320 บาท จากการจับตั๊กแตนเพียงครั้งเดียว ถือว่าชดเชยผลผลิตที่สูญเสียไปได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกษตรกรจับตั๊กแตนได้ 20 ตัน จึงเกินงบประมาณที่รัฐบาลจะจ่ายให้ได้ โครงการนี้จึงระงับไป และกำลังพิจารณาขยายเวลานี้ในพื้นที่อื่นๆ

ตั๊กแตนเปลี่ยนโฉมหน้าอาหารไก่

ขณะที่บริษัทผลิตอาหารไก่ขนาดใหญ่สุดในปากีสถาน ได้หันมาใช้ตั๊กแตนแทนถั่วเหลืองประมาณร้อยละ 10 โดยนายมูฮัมหมัด อาธาร์ ผู้จัดการทั่วไป เผยว่า ตั๊กแตนเป็นแหล่งโปรตีนที่ดี หลังจากทดลองให้ไก่ 500 ตัวกิน

โครงการให้ไก่กินตั๊กแตน อาจไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาตั๊กแตนทำลายพืชผลการเกษตร แต่ช่วยเยียวยาเกษตรกรให้พอมีรายได้บ้าง และช่วยลดความกดดันในการกระจายยาฆ่าแมลงให้เกษตรกรของเจ้าหน้าที่

ทั้งนี้ ตั๊กแตนบุกกินพืชผลการเกษตรทั่วแอฟริกาตะวันออก คาบสมุทรอาระเบีย และพื้นที่บางส่วนของอินเดีย ส่วนปากีสถานต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและร้องขอความช่วยเหลือจากนานาชาติ หลังจาก กล้วย มะม่วง พืชผักชนิดต่างๆ ถูกทำลายเรียบ ทำให้เกรงว่าจะเกิดปัญหาขาดแคลนอาหาร

ด้านองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ประเมินว่า ปากีสถานอาจสูญเสียเงิน 5,000 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 160,000‬ ล้านบาท หากพืชผลการเกษตรถูกทำลายเสียหาย

ยิ่งไปกว่านั้น การที่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้น้อย จะส่งผลให้ราคาผลผลิตถีบตัวสูงขึ้น และส่งผลเลวร้ายต่อความมั่นคงทางอาหาร

ขณะที่โครงการอาหารโลกระบุว่าประชากรปากีสถานประมาณร้อยละ 20 ขาดแคลนอาหาร เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวนเกือบครึ่งหนึ่งอยู่ในภาวะแคระแกร็น

ข้อมูล ข่าวสด

A farmer displaying a locust in Okara district in eastern Pakistan’s Punjab province. Locust attack on crops incurred heavy financial losses to farmers in some areas of the country. (Str/Xinhua)
A swarm of locusts are seen in the air as they arrive at a cultivation area in Dhamar province, Yemen, June 6, 2020. (Photo by Mohammed Mohammed/Xinhua)
A farmer shows dead locusts found in his field as locust swarms currently plague large zones in the country at Badra Sonauti village on the outskirts of Allahabad on June 10, 2020. (Photo by SANJAY KANOJIA / AFP)