‘เฟด’ ดับฝันเศรษฐกิจฟื้น V-Shape จีดีพีสหรัฐปีนี้ไม่รอดติดลบ 6.5%

Photo by MANDEL NGAN/AFP
ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

เป็นไปตามที่ตลาดคาดหมาย สำหรับการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา 
นั่นก็คือ การคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิม 
คือใกล้ระดับศูนย์ที่ 0-0.25% ด้วยมติ
เอกฉันท์ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของ
เศรษฐกิจสหรัฐที่ได้รับผลกระทบอย่าง
รุนแรงจากการแพร่ระบาดของไวรัส
โควิด-19 ซึ่งสหรัฐเป็นชาติที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก 
มีผู้ติดเชื้อเกิน 2 ล้านราย และเสียชีวิต
เกิน 1 แสนคน

การประชุมครั้งนี้ของเฟดเกิดขึ้นหลังจากสหรัฐเริ่มทยอยเปิดเศรษฐกิจไปบ้างแล้ว รวมทั้งมองเห็นผลกระทบจากการต้อง
ปิดกิจกรรมเศรษฐกิจไประดับหนึ่ง ดังนั้น
จึงมีการประเมินอัตราเติบโตของเศรษฐกิจออกมา หลังจากหลีกเลี่ยงการพยากรณ์จีดีพีในการประชุมครั้งก่อนหน้าเนื่องจากสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง

เฟดคาดว่าตลอดปีนี้ จีดีพีสหรัฐจะติดลบที่ระดับ 6.5% ก่อนจะกลับมาเป็นบวก 5% ในปีหน้า บวก 3.5% ในปี 2022 และบวก 1.8% ในปี 2023 ส่วนอัตราการว่างงานปีนี้จะพุ่งโด่งไปอยู่ที่ 9.3% ก่อนจะลดลงเหลือ 6.5%, 5.5% และ 4.1% ในปีต่อ ๆ ไปตามลำดับ ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปปีนี้จะอยู่ที่ 0.8% และเพิ่มเป็น 1.6%, 1.7%, และ 2% ในปีต่อ ๆ ไปตามลำดับ

ในแง่ของอัตราดอกเบี้ย เฟดส่งสัญญาณว่าจะตรึงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับนี้ไปจนถึงปี 2022 และไม่มีสัญญาณใด ๆ ที่
บอกว่า ต้องการใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ 
อีกทั้งส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะใช้มาตรการ
ผ่อนคลายไปจนกว่าจะมั่นใจว่าเศรษฐกิจสามารถฟันฝ่าวิกฤตนี้ไปได้ โดยเฟดมี
เป้าหมายจะส่งเสริมให้มีการจ้างงานใน
อัตราสูงสุด และอัตราเงินเฟ้อเข้าสู่ระดับ
เป้าหมาย ทั้งนี้ จะยังคงเพิ่มการเข้า
ซื้อพันธบัตรเดือนละ 8 หมื่นล้านดอลลาร์ 
และหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองหนุนหลังอีกเดือนละ 4 หมื่นล้านดอลลาร์

ความรุนแรงจากพิษของไวรัสโควิด-19 
ทำให้เฟดต้องอัดฉีดสภาพคล่องผ่านมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพื่อพยุงเศรษฐกิจมากกว่าครั้งที่เกิดวิกฤตการเงินครั้งร้ายแรงในสหรัฐเมื่อ
ปี 2008 ในครั้งนั้นเฟดใช้เงินไปราว 4.7 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ในครั้งนี้ใช้เงินไปแล้วกว่า 7.2 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งนักวิเคราะห์บางรายประเมินว่าอาจต้องใช้เงินสูงถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์

เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด แถลงว่า การพยากรณ์เศรษฐกิจครั้งนี้อยู่
บนความคาดหมายที่ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว 
ในช่วงครึ่งหลังของปีและรักษาระดับการ
ฟื้นตัวไปจนถึง 2 ปีข้างหน้า โดยมีอัตรา
ดอกเบี้ยหนุนหลัง อย่างไรก็ตาม อัตราการฟื้นตัวยังคงขึ้นอยู่กับพัฒนาการของสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้นการประเมินเศรษฐกิจในครั้งนี้ไม่ควรถูกตีความว่าเป็นการพยากรณ์อย่างเป็นทางการ

มาร์ก แชนด์เลอร์ หัวหน้านักกลยุทธ์การตลาด แบนน็อกเบิร์น โกลบอล ฟอเรกซ์ 
ระบุว่า การที่เฟดประเมินว่าจีดีพีปีนี้จะติดลบ 6.5% ทั้งที่ตัวเลขการจ้างงานในสหรัฐเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น
อย่างน่าประหลาดใจ กล่าวคือมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 2.5 ล้านคน ผิดจากคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อว่าการจ้างงานจะลดลง 8.3 ล้านตำแหน่ง สะท้อนให้เห็นว่ายังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก และต้องใช้เวลาหลายเดือนเพื่อดูถึงอัตราการจ้างงาน เฟดกำลังบอกว่า “คนไข้ยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ”

โมฮัมเหม็ด เอ. เอล-เอเรียน ที่ปรึกษา
เศรษฐกิจ อัลลิอันซ์ เอสอี ชี้ว่า การที่เฟด
ประเมินว่าจีดีพีจะหดตัว 6.5% เท่ากับ
ดับฝันของทำเนียบขาวและผู้เล่นใน
ตลาดอีกหลายคน ที่วาดหวังว่า อัตรา
การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม 
จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวในรูป V 
หรือฟื้นอย่างฉับพลันและแข็งแกร่ง


ก่อนหน้านี้ นายลาร์รี คัดโลว์ ผู้อำนวย
การสภาเศรษฐกิจแห่งสหรัฐ ให้สัมภาษณ์หลังจากตัวเลขการจ้างงานในเดือนพฤษภาคมออกมาดีกว่าคาดว่า แม้จำนวน
ผู้ว่างงานยังสูง แต่ดูเหมือนว่าเรามาถึง
จุดเปลี่ยน เศรษฐกิจดูเหมือนจะถึงจุด
ต่ำสุดแล้ว และกำลังมุ่งหน้าสู่การฟื้นตัว
อย่างยอดเยี่ยมในช่วงครึ่งปีหลัง