ศึกการเมือง-การค้าพ่นพิษ “มะกัน-จีน” ร่วงอันดับแข่งขันโลก

Photo by WANG ZHAO / AFP

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก โดย นงนุช สิงหเดชะ

สถาบันนานาชาติเพื่อการพัฒนาการบริหารจัดการ (IMD) แห่งสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นสถาบันอิสระทำหน้าที่สำรวจและจัดอันดับความสามารถการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ได้เผยแพร่การจัดอันดับประจำปี 2020 โดยมี 63 ประเทศถูกนำมาจัดอันดับ ซึ่งปรากฏว่า 10 อันดับแรกที่มีขีดความสามารถแข่งขันสูงที่สุดก็คือ 1.สิงคโปร์ 2.เดนมาร์ก 3.สวิตเซอร์แลนด์ 4.เนเธอร์แลนด์ 5.ฮ่องกง 6.สวีเดน 7.นอร์เวย์ 8.แคนาดา 9.สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 10.สหรัฐอเมริกา

เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สิงคโปร์ยังคงสามารถรักษาตำแหน่งที่ 1 ไว้ได้เช่นเดิม แต่ความน่าสนใจของปีนี้อยู่ที่สหรัฐอเมริกา จีน และฮ่องกง อันดับร่วงลงไปจากปีที่แล้วค่อนข้างมาก โดยอเมริการ่วงลงไปถึง 7 อันดับ จากอันดับ 3 ในปีที่แล้ว ดิ่งลงไปอยู่อันดับ 10 ในปีนี้ ส่วนจีนร่วงจากอันดับ 14 ในปีที่แล้ว ไปอยู่อันดับ 20 ในปีนี้ หรือลดไป 6 อันดับ ขณะที่ฮ่องกงตกจากอันดับ 2 ในปีที่แล้ว ไปอยู่อันดับ 5 ในปีนี้ หรือหล่นลงไป 3 อันดับ

ประเทศขนาดเล็กในยุโรป อันดับขยับขึ้นมาอย่างโดดเด่นจากปีที่แล้ว โดยเฉพาะเดนมาร์กขึ้นมาถึง 6 อันดับ จากอันดับ 8 ในปีที่แล้ว ขึ้นมาอยู่อันดับ 2 นอร์เวย์ขึ้นมา 4 อันดับ จากอันดับ 11 ในปีที่แล้วมาอยู่อันดับ 7 ในปีนี้

การจัดอันดับดังกล่าวพิจารณาจาก 4 ด้านสำคัญ คือ 1.ผลงานด้านเศรษฐกิจ 2.ประสิทธิภาพรัฐบาล 3.ประสิทธิภาพด้านธุรกิจ 4.โครงสร้างพื้นฐาน พร้อมกับการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารจำนวน 5,866 คน การจัดอันดับที่ว่านี้ช่วยให้ภาคธุรกิจใช้เป็นข้อมูลตัดสินใจว่าประเทศใดดีที่สุดสำหรับการประกอบธุรกิจและจะสร้างความรุ่งเรืองมากที่สุด

รายงานของ IMD ระบุว่า ถึงแม้การจัดอันดับจะจัดทำขึ้นก่อนการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 แต่มีข้อสังเกตว่าประเทศที่ควบคุมการระบาดของโควิดได้ดี มักจะเป็นประเทศที่รัฐบาลมีความโดดเด่นในการปรับตัวและมีนโยบายโปร่งใส ขณะเดียวกันเสถียรภาพทางการเมืองและความสมัครสมานในสังคมมีความสำคัญในการลดผลกระทบ

จากวิกฤตให้เหลือน้อยที่สุด จะเห็นว่าประเทศที่ได้รับอันดับดี ๆ ล้วนแต่มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้กับโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขทั้งระบบ

รายงานระบุว่า สำหรับ สหรัฐอเมริกา ที่ตกไปอยู่อันดับ 10 เกิดจากการไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองและความกลมเกลียวในสังคมอย่างเพียงพอ อีกทั้งมีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและเพศ ส่วน จีน นั้นเกิดจากการค้าระหว่างประเทศที่หดตัวลง การจ้างงานที่ลดน้อยลง และมาตรการด้านตลาดแรงงานเป็นปัจจัยกดดัน

ส่วนสิงคโปร์ที่สามารถรักษาอันดับ 1 เอาไว้ได้เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ปัจจัยหลักมาจากการมีเศรษฐกิจแข็งแกร่ง มีสัมพันธ์การค้าที่เข้มแข็ง อัตราการจ้างงานสูง ระบบการศึกษาและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ขณะที่เดนมาร์กได้รับคะแนนสูงด้านตลาดแรงงาน ระบบสุขภาพและการศึกษา ส่วนสวิตเซอร์แลนด์มีโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่น่าประทับใจ นอกจากนี้มีอีกหลายประเทศที่มีผลงานแข็งแกร่งจนอันดับ ขยับขึ้นในปีนี้ เช่น ไต้หวัน (อันดับ 11) ฟินแลนด์ (อันดับ 13) ออสเตรีย (อันดับ 16)

“ประเทศที่ดีที่สุดสำหรับใครก็ตามที่กำลังพิจารณาย้ายสถานที่ประกอบธุรกิจ ก็คือประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำที่จะเกิดความไร้เสถียรภาพทางการเมือง มีคุณภาพชีวิตสูง ส่งเสริมการเป็นเจ้าของกิจการและนวัตกรรม มีการส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและย่อมอย่างต่อเนื่อง แสดงความเต็มใจที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีความยืดหยุ่น”

ความขัดแย้งทางการเมืองและการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งดำเนินมา 2 ปีเศษ เริ่มจากการที่สหรัฐตั้งกำแพงภาษีสินค้าจากจีน และลามมาถึงปัญหาการเมือง จากกรณีฮ่องกงซึ่งมีการประท้วงอย่างยืดเยื้อจนสร้างความเสียหายอย่างมากต่อเศรษฐกิจฮ่องกง ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทั้งอเมริกา จีน และฮ่องกง ได้รับผลกระทบจนอันดับขีดความสามารถการแข่งขันลดลง

เมื่อดูจากอันดับด้านขีดความสามารถแข่งขันในปีนี้ เป็นนัยบ่งบอกว่า ในขณะที่ประเทศขนาดใหญ่กำลังแข่งขันกันเป็นใหญ่ทางเศรษฐกิจ แต่แท้จริงแล้วประเทศขนาดเล็กอาจมีประสิทธิภาพมากกว่าในการทำงานและทำธุรกิจ เมื่อประเทศยักษ์ใหญ่ทะเลาะกัน ก็เปิดทางและเปิดโอกาสให้กับประเทศเล็ก ๆ