‘เปยโต่ว’ ปล่อยดาวเทียมดวงสุดท้ายสู่อวกาศ เครือข่ายนำร่อง ‘จีน’ ทัดเทียม ‘สหรัฐ’

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า เครือข่ายดาวเทียมนำร่อง “เป่ยโตว” ของจีน ได้ปล่อยดาวเทียมดวงสุดท้ายขึ้นสู่อวกาศในวันนี้ (23 มิ.ย. 2020) ซึ่งส่งผลให้ปัจจุบันเครือข่ายนำทางด้วยดาวเทียม (จีเอ็นเอสเอส) จากจีน สามารถให้บริการครอบคลุมพื้นที่ทั่วโลกเทียบเท่ากับเครือข่ายนำทางด้วยดาวเทียม “จีพีเอส” ของสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ ระบบดาวเทียมนำทางเป่ยโตว (บีดีเอส) เป็นเครือข่ายระบบนำทางด้วยดาวเทียมที่ถูกพัฒนาโดยรัฐบาลจีนเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ทางด้านการพัฒนาสังคม, เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ โดยสามารถให้บริการการระบุตำแหน่งที่มีความแม่นยำสูง, การนำทาง รวมถึงการระบุเวลา เป็นต้น

โดย “เป่ยโตว” จะกลายเป็นคู่แข่งกับ “จีพีเอส” ระบบนำทางด้วยดาวเทียมของสหรัฐที่ปัจจุบันเป็นที่นิยมและใช้งานกันทั่วโลก นอกจากนี้ “เป่ยโตว” ยังช่วยให้จีนสามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้งานระบบนำทางด้วยดาวเทียมได้หากเกิดความขัดแย้งที่รุนแรงกับสหรัฐ อีกทั้งยังเป็นก้าวสำคัญแห่งความสำเร็จของความทะเยอทะยานทางด้านโครงการอวกาศของจีน

รายงาน ระบุว่า จีนได้เริ่มพัฒนาโครงการเครือข่ายการนำทางด้าวยดาวเทียมนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 1990 โดย “เป่ยโตว” เวอร์ชั่นที่ 1 ซึ่งเริ่มให้บริการเมื่อปี 2000 แต่ครอบคลุมเฉพาะพื้นที่ของประเทศจีนเท่านั้น หลังจากนั้นจีนก็ได้พัฒนาเครือข่ายดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั้งเมื่อปี 2012 จึงได้เปิดตัว “เป่ยโตว” เวอร์ชั่นที่ 2 ที่ครอบคลุมพื้นที่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ขณะที่การพัฒนา “เป่ยโตว” เวอร์ชั่นที่ 3 เพึ่งสำเร็จลุล่วงในวันนี้ ภายหลังจีนปล่อยดาวเทียมดวงสุดท้ายขึ้นสู่วงโคจรโลก โดยส่งผลให้ “เป่ยโต่ว” มีดาวเทียมกว่า 30 ดวง ซึ่งสามารถครอบคลุมการให้บริการทั่วโลก