ย้อนดู ‘โรงงานแปรรูปเนื้อ’ เยอรมัน จุดเริ่มต้น ‘โควิด-19’ ระลอกใหม่

REUTERS/Leon Kuegeler

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ใน “เยอรมนี” ครั้งล่าสุด ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากโรงงานบรรจุเนื้อหมูแห่งหนึ่ง ที่พบคนงานติดเชื้อกว่าพันคน ส่งผลให้อุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อสัตว์รายใหญ่จำนวนมากของเยอรมนีกำลังถูกตรวจสอบอย่างละเอียด

โดยในวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของเยอรมันรายงานว่าพบผู้ป่วยโควิด-19 ถึง 1,331 ราย โดยทั้งหมดเป็นคนงานในโรงงานบรรจุภัณฑ์เนื้อหมูของกลุ่มบริษัท “เทินนีส์ กรุ๊ป” (Tönnies Group) ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองกือเทอร์สโล รัฐนอร์ดไรน์-เวสท์ฟาเลิน ทางตะวันตกของเยอรมนี ซึ่งก่อนหน้านี้ ทางการเยอรมันได้ประกาศปิดทำการศูนย์รับเลี้ยงเด็กและสถานศึกษาในพื้นที่ดังกล่าวเป็นการชั่วคราว

“เทินนีส์ กรุ๊ป” เป็นบริษัทแปรรูปเนื้อสัตว์รายใหญ่ที่สุดของเยอรมนีก่อตั้งในปี 1971 โดยนายเบิร์นด์ เทินนีส์ ปัจจุบันบริษัทมีพนักงานราว 16,500 คนทั่วโลกและมีรายได้ราว 6,700 ล้านยูโรในปี 2018 โดยมีกำลังการผลิตเนื้อสัตว์แช่แข็งและเนื้อสดราว 850 ตันต่อวันและส่งออกราว 50% ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด ครองส่วนแบ่งการตลาดถึง 27%

ปัจจุบัน ทางการเยอรมนีกำลังดำเนินการตรวจสอบโรงงานของเทินนีส์และโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์อีกหลายแห่งทั่วประเทศ เพื่อหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เนื่องจากอุตสาหกรรมดังกล่าวมีแรงงานต่างชาติเป็นจำนวนมาก และคนงานในโรงงานหลายแห่งก็มีสภาพการทำงานและสภาพความเป็นอยู่ไม่ดีนัก

นายเคลเมนส์ เทินนีส์ ผู้จัดการของเทินนีส์ กรุ๊ป ระบุในทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า บริษัทจะสนับสนุนการตรวจหาผู้ติดเชื้อในเมืองกือเทอร์สโลเพื่อตอบสนองให้กับชาวเมือง นายเทินนีส์ยังแสดงความขอโทษพร้อมทั้งระบุว่าบริษัทมีส่วนรับผิดชอบอย่างมากต่อการแพร่ระบาดครั้งนี้

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อสัตว์ทั่วโลกถูกจับตามองอย่างมากในช่วงการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ เนื่องจากสภาพการทำงานของคนงานที่ใกล้ชิดกันเป็นเวลานาน ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อไวรัสในโรงงานมากขึ้น ในสหรัฐมีคนงานติดเชื้อไวรัสหลายพันคน และหลายสิบคนเสียชีวิต

ขณะที่ สหภาพแรงงานเยอรมันเอ็นจีจี ระบุว่า แรงงานราว 70%-80% จากจำนวนแรงงานทั้งหมดราว 7,000 คนของเทินนีส์ เป็นแรงงานที่ถูกจ้างผ่านนายหน้ารับเหมาช่วงการทำงาน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นแรงงานจากกลุ่มประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ส่งผลให้แรงงานกลุ่มนี้ในบางโรงงานต้องทำงานวันละ 12-14 ชั่วโมง เพื่อรับค่าแรงการทำงานเพียง 8 ชั่วโมง

ปัจจุบันมีแรงงานในอุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อสัตว์ของเยอรมนีราว 200,000 คน ซึ่งตามข้อมูลของสำนักงานแรงงานของรัฐบาลกลางเยอรมนีระบุว่า ราวหนึ่งในสามของแรงงานในอุตสาหกรรมเป็นชาวต่างชาติ

หลังจากเกิดการแพร่ระบาดในโรงงานของเทินนีส์ รัฐบาลเยอรมนีได้ประกาศว่าจะพิจารณากฎหมายใหม่ในปี 2021 ห้ามไม่ให้มีนายหน้ารับเหมาช่วงการทำงาน และกำหนดค่าปรับเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า สำหรับการละเมิดกฎเรื่องชั่วโมงการทำงาน

นอกจากนี้ รัฐบาลกลางยังให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ของเมืองกือเทอร์สโล ในการเร่งการตรวจหาผู้ติดเชื้อทั่วเมือง แต่การติดตามผู้มีความเสี่ยงยังเป็นไปด้วยความล่าช้า เนื่องจากติดขัดกฎหมายการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของเยอรมนีปัจจุบัน ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมของเยอรมนีรวมกล่าว 192,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 8,900 คน