จับตา “เกมการทูต” เลือกผู้อำนวยการ WTO คนใหม่

(Photo by Fabrice COFFRINI / AFP)
คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

นายโรแบร์โต อาเซเวโด ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) ชาวบราซิล ประกาศลาออกจากตำแหน่งกะทันหันเมื่อกลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โดยอ้างเหตุผลส่วนตัว การลาออกดังกล่าวกำหนดจะมีผลในเดือน ส.ค.ที่จะถึงนี้ ทำให้กระบวนการสรรหาผู้อำนวยการคนใหม่ต้องกระชั้นสั้นกว่าทุกครั้ง

ในเวลาเดียวกับที่บรรยากาศทางการค้าระหว่างประเทศก็กำลังตกอยู่ในสภาวะตึงเครียดสูงที่สุดกว่าครั้งไหน ๆ บทบาทของดับเบิลยูทีโอกลับตกต่ำถึงขีดสุดเช่นเดียวกัน

ดับเบิลยูทีโอ ซึ่งมี 164 ประเทศเป็นสมาชิก (รวมทั้งประเทศไทย) ถูกกำหนดบทบาทไว้ว่า จะเป็นองค์กรสำหรับกำหนดกฎเกณฑ์ให้กับการค้าระหว่างประเทศ ทำหน้าที่เป็นผู้ชี้ขาดเพื่อยุติความขัดแย้งทางการค้าระหว่างชาติสมาชิก เป็นต้น

แต่หลังจากประสบความสำเร็จในการบรรลุข้อตกลงทางการค้าที่เจรจากันยืดเยื้อนานปี ที่เรียกว่าการเจรจา “รอบโดฮา” เมื่อปี 2015 มาแล้ว ดับเบิลยูทีโอก็ไม่เคยสร้างสรรค์ความตกลงระหว่างประเทศสำคัญ ๆ ใด ๆ อีกเลย

การเจรจาเพื่อทำความตกลงสร้างบรรทัดฐาน กฎเกณฑ์สำหรับการประมงระหว่างประเทศ ที่มีเป้าหมายในการจำกัด การประมงเพื่อเปิดโอกาสให้สัตว์ทะเลที่เป็นอาหารซึ่งลดน้อยถอยลงทุกที ได้มีโอกาสเติบโตขยายปริมาณมากขึ้น ก็ค้างเติ่งมาจนถึงทุกวันนี้

การเจรจาเพื่อแสวงหาความตกลงว่าด้วยกฎเกณฑ์การทำพาณิชยกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งนับวันยิ่งมีบทบาทสำคัญในวิถีชีวิตประจำวันของโลกมากยิ่งขึ้น ก็ยังคงคาราคาซังกันอยู่ที่คณะทำงานขนาดเล็ก ในขณะที่ความแตกต่างทางความคิดยังคงใหญ่โตมหาศาลมาก

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ดับเบิลยูทีโอตกอยู่ในสภาพเป็นอัมพาตโดยสิ้นเชิง เมื่อสหรัฐอเมริกาตัดสินใจบล็อกการแต่งตั้งองค์คณะผู้พิพากษาประจำองค์กรอุทธรณ์ ขององค์การระหว่างประเทศอายุ 25 ปีองค์การนี้ ทำให้การตัดสินชี้ขาดกรณีพิพาทที่จำเป็นต้องใช้มติเป็นเอกฉันท์ตามปกติ ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป

ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศบางคน ถึงกับเปรียบเปรยสภาวะของดับเบิลยูทีโอในยามนี้ว่า อาการหนักเหมือนคนไข้ในห้องฉุกเฉิน หรือห้องไอซียู ไม่มีผิด

หลายชาติสมาชิกสำคัญ ๆ คิดตรงกันว่า หากไม่ต้องการให้ดับเบิลยูทีโอล้มหายตายจากไป ก็ต้องปฏิรูปองค์กรครั้งใหญ่

ปัญหาก็คือแม้เห็นตรงกันว่า ต้องผ่าตัด แต่จะผ่าส่วนไหน ตัดอะไร เพิ่มอะไร ยังคงมีข้อคิดเห็นแตกต่างกันมหาศาล ราวกับยืนกันอยู่คนละข้างของมหาสมุทร

สหรัฐอเมริกาภายใต้การบริหารของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ลดความสำคัญของดับเบิลยูทีโอลงจนแทบหมดสิ้น กล่าวหาอยู่ตลอดเวลาว่า ดับเบิลยูทีโอปฏิบัติต่อสหรัฐอเมริกาอย่าง “เลวร้าย” ซึ่งเป็นเหตุให้จีนสามารถเอาเปรียบ ฉกฉวยประโยชน์อย่างที่สหรัฐอเมริกาไม่เคยได้ตลอดมา

โควิด-19 ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นสำหรับดับเบิลยูทีโอ การประชุมใหญ่ชาติสมาชิกที่กำหนดกันไว้ว่า จะมีขึ้นที่คาซัคสถาน ในเดือน มิ.ย. ซึ่งอาจก่อให้เกิดแนวทางแก้ไขปัญหาขึ้นได้ ก็ถูกเลื่อนออกไปเป็นราวกลางปี หรือปลายปี 2021

สภาพของดับเบิลยูทีโอในเวลานี้ ทำให้กระบวนการคัดสรรผู้ทำหน้าที่แทนนายอาเซเวโด มีความแหลมคมมากเป็นพิเศษ และมีความจำเป็นมากเป็นพิเศษ

การตัดสินใจปล่อยให้ผู้นำองค์กรว่างลง ไม่ใช่ทางเลือกที่ชาญฉลาดนัก เว้นเสียแต่ว่า ต้องการบ่อนทำลายระบบทั้งระบบ

ฟิล โฮแกน กรรมาธิการการค้าของสหภาพยุโรป ชี้ให้เห็นว่า การเลือกผู้อำนวยการดับเบิลยูทีโอคนใหม่ มีนัยสำคัญอย่างยิ่งยวด ไม่เพียงสำคัญต่อองค์กรเท่านั้น ยังสำคัญต่ออนาคตของการค้าระหว่างประเทศทั้งหมด เนื่องเพราะสิ่งที่ดับเบิลยูทีโอต้องเผชิญหลังวิกฤตโควิดนั้นใหญ่โตอย่างยิ่ง ท้าทายอย่างยิ่ง

องค์การการค้าโลกไม่สามารถอยู่นิ่งเฉยได้อีกต่อไปแล้ว ความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ พรวดเข้ามาถึงตัวเรียบร้อยแล้ว

นักวิชาการอย่าง ไซมอน อีฟเนตต์ ศาสตราจารย์ด้านการค้าระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยเซนต์กัลเลน ในสวิตเซอร์แลนด์ ย้ำว่า ภารกิจสำคัญที่สุดของผู้อำนวยการคนใหม่ หนีไม่พ้นจากการผลักดัน ปรับปรุง ตกแต่ง ดับเบิลยูทีโอ ให้กลับมาเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอีกครั้ง

ที่สำคัญก็คือ ผู้อำนวยการดับเบิลยูทีโอคนต่อไป ต้องไม่ใช่ “มือใหม่หัดขับ” แต่ต้องเป็นคนที่ได้รับความเคารพ ยำเกรงจากมหาอำนาจรอบด้าน พร้อม ๆ กับประสบการณ์ทั้งด้านบริหารและด้านการค้าสูงยิ่ง

ก่อนที่กระแสกีดกันทางการค้า กระแสทวิภาคีที่จะทวีสูงขึ้นหลังวิกฤตครั้งนี้ จะทำลายดับเบิลยูทีโอลงอย่างเลือดเย็นนั่นเอง