ส่องนโยบายจีน Go West สร้างศูนย์กลางใหม่เศรษฐกิจโลก

(Photo by Johannes EISELE / AFP)

หนึ่งในนโยบายของจีนที่ประกาศในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติประจำปี 2020 เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา คือ การพัฒนาพื้นที่มณฑลและเขตการปกครองในภูมิภาคตอนกลางและตะวันตกของประเทศ หรือเรียกว่า “โกเวสต์” (Go West)

เป้าหมายสำคัญ คือ การลงทุนพัฒนาสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น ท่าอากาศยาน ทางรถไฟ ระบบพลังงาน รวมถึงการย้ายฐานอุตสาหกรรมเข้าไปในภูมิภาคดังกล่าว ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ใน 12 มณฑล และเขตปกครองของจีน ซึ่งรายละเอียดของนโยบายจะมีการหารือกันในการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนช่วงปลายปีนี้ และคาดว่าจะปรากฏเป็นส่วนหนึ่งของแผน 5 ปี 2021-2025 ของจีน

เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของ “โควิด-19” และความตึงเครียดกับสหรัฐอเมริกา เหนือศูนย์กลางทางเศรษฐกิจการเงินของจีนอย่าง “ฮ่องกง” กำลังกลายเป็นปัจจัยหนุนให้รัฐบาลจีนหันมาให้ความสำคัญกับนโยบายโกเวสต์มากยิ่งขึ้น

เนื่องจากนโยบายโกเวสต์ถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะมารองรับนโยบาย “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (One Belt One Road) ของจีน ที่ต้องการเชื่อมต่อเส้นทางการค้าจากเอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกาสู่ยุโรป ผ่านแนวคิดการฟื้นฟูเส้นทางสายไหมในอดีต และยังจะช่วยรองรับความเสี่ยงกรณีที่ความสัมพันธ์กับสหรัฐย่ำแย่ จนเกิดการแบ่งแยกขั้วทางเศรษฐกิจระดับโลก

การพัฒนาเศรษฐกิจของจีนในระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา จีนเชื่อมต่อกับตลาดโลกและพึ่งพิงระบบการเงินของสหรัฐอย่างเหนียวแน่น ด้วยการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมชายฝั่งทางตะวันออกเพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิต อย่างพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ล และสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากอุตฯผลิตสินค้าต้นทุนต่ำ การส่งออก และการสะสมเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ

แต่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐที่กลับมาตึงเครียดอีกครั้ง ได้สร้างความไม่แน่นอนให้กับภาคส่งออกของจีน โดยเฉพาะหากมีการแบ่งขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอาจถูกกดดันจากสหรัฐให้ไม่สามารถค้าขายกับจีนได้ หนทางรอดของจีนจึงจำเป็นต้องสร้างเขตอิทธิพลทางเศรษฐกิจของตนเองขึ้น

“กง แก็ง” ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเศรษฐกิจและการเงินยูนนาน ชี้ว่า “จีนจำเป็นต้องรักษาความสัมพันธ์กับประเทศตามแนวหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง และประเทศกำลังพัฒนาเอาไว้ให้ได้ และยังจะต้องสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่จีน” เนื่องจากเศรษฐกิจจีนจะไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ หากจีนต้องอยู่ในฐานะ “ประเทศที่อยู่นอกระบบเศรษฐกิจที่มีสหรัฐเป็นศูนย์กลาง”

สัญญาณที่สะท้อนให้เห็นว่า พื้นที่ในภูมิภาคตอนกลางและตะวันตกของจีนกำลังทวีความสำคัญมากขึ้น คือ ความเชื่อมโยงทางการค้าระหว่างภูมิภาคดังกล่าวของจีน กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ “อาเซียน” ที่กำลังเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยช่วง ม.ค.-พ.ค. 2020 ที่ผ่านมา อาเซียนขึ้นมาเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งที่จีนส่งออกสินค้ามากที่สุด แทนที่ยุโรป สาเหตุหนึ่งมาจากเส้นทางการขนส่งสินค้าทางไกลถูกปิดกั้นจากภาวะโรคระบาด

แต่ “เรย์มอนด์ เหยิง” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำประเทศจีนของธนาคารออสเตรเลียแอนด์นิวซีแลนด์แบงกิ้งกรุ๊ป ระบุว่า สถาบันด้านการตลาดยังจะต้องประเมินมูลค่าทางการค้าที่จะได้รับจากการลงทุนในภูมิภาคเหล่านี้ เนื่องจากการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจในเมืองที่ห่างไกล และการเชื่อมต่อพื้นที่เหล่านั้นกับประเทศกำลังพัฒนาและตลาดยุโรป ยังคงมีความไม่ชัดเจนและยากที่จะประสบความสำเร็จไม่ต่างจากแผนในปี 1999

อย่างไรก็ตาม นโยบายโกเวสต์นี้ถูกมองว่าจะช่วยให้รัฐบาลจีนสามารถควบคุมภูมิภาคตอนกลางและตะวันตกได้มากขึ้น ผ่านโครงสร้างพื้นฐานอย่างแผนการก่อสร้างทางรถไฟสายเสฉวน-ทิเบต และสนามบินต่าง ๆ เนื่องจากภูมิภาคดังกล่าวอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติภายใต้พื้นที่ราว 3 ใน 4 ของจีน และมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศทรงอิทธิพลอย่าง “รัสเซีย” และ “อินเดีย”


กรณีการปะทะกันระหว่างกองกำลังทหาร 2 ชาติ บริเวณพรมแดน “จีน-อินเดีย” จึงเป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลจีนกำลังให้ความสำคัญต่อภูมิภาคตะวันตกมากขึ้น ทั้งการตรึงกองกำลังทหารเพื่อรักษาความมั่นคงในพื้นที่ การพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคดังกล่าว และการแผ่อิทธิพลสู่ประเทศรอบข้างผ่านการก่อรูประบบเศรษฐกิจที่กำลังจะทำให้จีนกลายเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ของโลก