‘รัสเซีย’ ลุยประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ต่ออายุ ‘ปูติน’

REUTERS/Yuri Maltsev

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า “รัสเซีย” เริ่มกระบวนการลงประชามติร่างฉบับปรับปรุงในวันที่ 25 มิถุนายน ซึ่งหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวผ่านการลงประชามติในครั้งนี้ จะส่งผลให้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้จนถึงปี 2036

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีปูตินได้ครองอำนาจทางการเมืองของรัสเซียมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี แต่ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จะทำให้อำนาจของเขาสิ้นสุดลงในปี 2024 ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ จะช่วยให้ปูตินมีสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งและสามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไปได้อีก 2 วาระ

นอกจากนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลายประการ โดยเฉพาะการสอดแทรกหลักการทางคริสต์ศาสนา อย่างการระบุถึงการแต่งงานในฐานะ “การรวมกันระหว่างชายและหญิง” (a union of a man and a woman) และการใช้คำกล่าวถึงพระผู้เป็นเจ้าในรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะส่งผลให้รัสเซียซึ่งเป็นรัฐโลกวิสัย (secular state) มีความเป็นอนุรักษนิยมสูงขึ้น

ทั้งนี้ กระบวนการปรับปรุงแก้ไข้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีขึ้นตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยมีผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากรัฐสภาและศาลรัฐธรรมนูญของรัสเซีย และมีกำหนดการเริ่มกระบวนการลงประชามติในวันที่ 22 เมษายน ก่อนที่จะถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบันที่ลดความรุนแรงลง ทำให้รัสเซียตัดสินใจจัดการลงประชามติ โดยมีการใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยและควบคุมการแพร่กระจายของไวรัสอย่างเคร่งครัด แม้ว่าในขณะนี้ รัสเซียจะยังมีรายงานผู้ป่วยรายใหม่ราว 7,000 รายต่อวันก็ตาม

ทั้งนี้ กระบวนการลงประชามติจะสิ้นสุดลงและมีผลในวันที่ 1 กรกฎาคม ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีการชี้นำและการกดดันให้ลงคะแนนรับร่างรัฐธรรมนูญในการลงประชามติครั้งนี้ รวมทั้งยังมีช่องโหว่ในหน่วยลงคะแนน ซึ่งอาจนำไปสู่การทุจริตได้ง่ายอีกด้วย