‘ทรัสต์เวฟ’ ชี้ บริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติในจีนถูกสอดแนมข้อมูล

สำนักข่าวเอ็นบีซีรายงานอ้างงานวิจัยซึ่งถูกเปิดเผย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (25 มิ.ย. 2020) จาก “ทรัสต์เวฟ” บริษัทผู้ให้บริการเกี่ยวกับความมั่นคงทางไซเบอร์ ระบุว่า เมื่อต้นปี 2020 บริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติหลายแห่งที่ทำธุรกิจในจีนได้รับการแนะนำจากธนาคารของจีนให้ติดตั้งซอฟต์แวร์ตัวหนึ่งสำหรับการชำระภาษี อย่างไรก็ตามซอฟต์แวร์ดังกล่าวมีการแฝงมัลแวร์ที่ทำการเจาะเข้าระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติเหล่านี้เพื่อสอดแนมข้อมูล

งานวิจัยของ “ทรัสต์เวฟ” ตั้งชื่อมัลแวร์ตัวนี้ว่า “GoldenSpy” ซึ่งจะเริ่มปฏิบัติการภายในเวลา 2 ชั่วโมงหลังจากบริษัทเป้าหมายได้ทำการติดตั้งซอฟต์แวร์การชำระภาษีที่ธนาคารของจีนแนะนำ โดย “GoldenSpy” จะทำการสร้าง “แบ๊คดอร์” ในระบบคอมพิวเตอร์ของเป้าหมายเพื่อให้ผู้โจมตีสามารถแอบลักลอบเข้ามาในเครือข่ายได้ ทั้งนี้ รายงาน ระบุว่า แคมเปญมัลแวร์ตัวนี้เริ่มต้นเมื่อ เม.ย. 2020 อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นการกระทำจากรัฐบาลจีน หรือ กลุ่มอาชญากรทางไซเบอร์

“ไบรอัน ฮัสซีย์” อดีตเจ้าหน้าที่สำนักสอบสวนกลางของสหรัฐ (เอฟบีไอ) ซึ่งปัจจุบันทำหน้าที่เป็นรองประธานของ “ทรัสต์เวฟ” กล่าวเตือนว่า GoldenSpy เป็นตัวอย่างล่าสุดที่คอยเตือนให้บริษัทข้ามชาติควรระมัดระวังในการทำธุรกิจที่จีน


ขณะที่ชาติมหาอำนาจต่างก็ได้ทำการจารกรรมทางไซเบอร์ต่อประเทศคู่แข่งและภาคเอกชนเพื่อตอบสนองโจทย์ปัญหาทางด้านความมั่นคงของชาติ อย่างไรก็ตามสหรัฐอเมริกาได้กล่าวหาจีนว่าไม่ได้มีการจารกรรมข้อมูลทางไซเบอร์เพียงเพื่อตอบสนองทางด้านการทหารเท่านั้น แต่สายลับของจีนยังสอดแนมและขโมยข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญามาให้กับบริษัทจีนอีกด้วย