ปฏิกิริยาธุรกิจใน “ฮ่องกง” หลังจีนบังคับใช้ “กม.มั่นคง” ใหม่

File Photo (AP Photo/Vincent Yu)
ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ได้ลงนามบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ในฮ่องกงไปแล้วเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน จุดประสงค์หลักก็เพื่อป้องกันและป้องปรามการแยกฮ่องกงไปเป็นเอกราช หลังจากชาวฮ่องกงที่สนับสนุนประชาธิปไตย ได้ประท้วงอย่างยืดเยื้อและใช้ความรุนแรง จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจฮ่องกงอย่างหนักเมื่อปีที่แล้ว

เนื้อหาหลักของกฎหมายใหม่ดังกล่าว กำหนดห้ามการกระทำ 4 อย่าง ได้แก่ ห้ามแยกตัวเป็นเอกราช ห้ามล้มล้างการปกครอง ห้ามก่อการร้าย และห้ามสมคบคิดกับต่างชาติ หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกขั้นต่ำ 3 ปี ขั้นสูงตลอดชีวิต ที่สำคัญอำนาจการตีความว่าการกระทำใดเข้าข่าย 4 ข้อหรือไม่เป็นอำนาจของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่

จีนเดินหน้าบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวในฮ่องกง โดยไม่สนใจเสียงขู่จากต่างชาติโดยเฉพาะอเมริกา เพราะจีนเชื่อว่าอเมริกาคือตัวบงการหลักที่อยู่เบื้องหลังการประท้วงของหนุ่มสาวฮ่องกงเพื่อเรียกร้องเอกราชและประชาธิปไตย

การบังคับใช้กฎหมายฉบับใหม่เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ตรงกับครบรอบ 23 ปี นับจากอังกฤษส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนให้กับจีน ซึ่งถูกวิจารณ์จากอเมริกาและชาติตะวันตกว่า จีนเคยสัญญาว่าจะให้อิสระกับฮ่องกงอย่างน้อย 50 ปีหลังกลับคืนสู่จีน แต่เอาเข้าจริงให้เพียง 23 ปี

ในสายตาคนภายนอก มองว่ากฎหมายนี้ น่ากังวลสำหรับฮ่องกง เป็นวันมืดมนที่สุดสำหรับดินแดนที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษแห่งนี้ แต่สำหรับนางแครี่ แลม ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง เชื่อว่าฮ่องกงจะ “ส่องแสงแวววาว” อีกครั้ง จะเห็นรุ้งหลังพายุฝน ความสงบจะกลับคืนสู่ฮ่องกง และยืนยันว่าความเป็นหนึ่งประเทศสองระบบของฮ่องกงจะยังคงอยู่ต่อไป

ผลที่ตามมาหลังการใช้กฎหมายดังกล่าวก็คือ อเมริกาได้ยกเลิกการให้สถานะพิเศษทางเศรษฐกิจต่อฮ่องกง พร้อมกันนั้นอเมริกาได้กดดันและเชิญชวนให้ชาติตะวันตกอื่น ๆ ร่วมกดดันจีน

สำหรับปฏิกิริยาของภาคธุรกิจที่ใช้ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางการลงทุน มีความเห็นหลากหลายแตกต่างกันไป เช่น เจส สเตลีย์ ประธานบริหารบาร์เคลย์ พีแอลซี แบงก์ใหญ่แห่งอังกฤษ บอกว่า จะไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง เราจึงจะไม่ออกแถลงการณ์ใด ๆ ต่อเรื่องนี้ เพราะมันเป็นสถานการณ์การเมืองที่ยุ่งยาก เราจำเป็นต้องตระหนักให้มากว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ส่วน จุน เป่ย หลิว ผู้จัดการพอร์ตโฟลิโอของ Tribeca ในซิดนีย์ ชี้ว่า กฎหมายดังกล่าวจะเพิ่มความซับซ้อนให้กับการทำธุรกิจในฮ่องกง ในระยะยาวอาจเห็นบริษัทข้ามชาติและนักลงทุนย้ายฐานไปอยู่ที่อื่นในเอเชียแทนฮ่องกง อย่างไรก็ตาม คิดว่าถึงอย่างไรฮ่องกงก็ยังเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญสำหรับการเข้าถึงตลาดของจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีขนาดมหึมา

หลอ คา-ชุง อาจารย์มหาวิทยาลัยซิตี้ของฮ่องกง บอกว่าในสายตาต่างชาติขณะนี้ เห็นว่าฮ่องกงเหลือเพียงระบบเดียวไปแล้ว ไม่มีตลาดทุนเสรีอีกต่อไป ซึ่งจะกระตุ้นให้เงินทุนต่างชาติไหลออก ด้าน แซม เหลา เจ้าของโรงแรม 5 ดาว ย่านจิมซาจุ่ย เผยว่า หลังจากนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะอเมริกันอาจมาน้อยลง เพราะความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐ ส่วนการประท้วงบนท้องถนนคงน้อยลง แต่สิ่งที่ตนกลัวมากกว่ากฎหมายมั่นคงก็คือไวรัสโควิด-19 ที่ฆ่าธุรกิจท่องเที่ยวไปหมด

อเล็กซ์ หว่อง ผู้อำนวยการบริหารจัดการสินทรัพย์ แอมเพิล แคปิตอล ชี้ว่า แม้จะมีนักลงทุนบางส่วนขายหุ้นหรือสินทรัพย์ออกไปเพราะตกใจ แต่ก็จะมีนักลงทุนบางกลุ่มเข้ามาซื้อแทนที่ ยังมีนักลงทุนที่พร้อมจะเข้ามามีส่วนร่วมในตลาดและไม่หนีไปง่าย ๆ ผลกระทบอาจเกิดขึ้นระยะสั้น แต่ความกระหายที่จะลงทุนในบริษัทใหม่ ๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงยังมีอยู่มาก และมีแนวโน้มว่ากองทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่พร้อมจะเข้าซื้อเมื่อราคาต่ำลง

เรย์มอนด์ เฉิน ผู้จัดการพอร์ตโฟลิโอของคีย์ไวส์ แมเนจเมนต์ เห็นว่า ปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนตลาดหุ้นฮ่องกงคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและสภาพคล่องในตลาด ไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐ ดังนั้นตนจะไม่ปรับพอร์ตลงทุนเพียงเพราะกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่