“เบร็กซิต” กับอนาคตของอียู

เบร็กซิตกับอนาคตของอียู
FILE PHOTO: REUTERS/Hannibal Hanschke/File Photo
ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

เหลือเวลาอีกไม่ช้าไม่นานการเจรจาเพื่อทำความตกลงว่าด้วยความสัมพันธ์ในรูปแบบใหม่ระหว่าง สหราชอาณาจักร (ยูเค) กับ สหภาพยุโรป (อียู) ก็ต้องสิ้นสุดลง ไม่ว่าจะตกลงกันได้หรือไม่ก็ตาม

เพราะนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ยังคงยืนกรานว่า ไม่ว่าจะมีความตกลงหรือไม่ก็ตาม ยูเคก็ต้องพ้นจากการเป็นสมาชิกอียูในตอนสิ้นปีนี้

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การเจรจาจำเป็นต้องทำกันผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งแม้จะส่งผลให้ต่างฝ่ายต่างตระหนักถึงท่าทีและจุดยืนในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งกันและกัน แต่ก็ยากที่จะทำให้เกิดความคืบหน้าได้ในสภาพเช่นนี้

ระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนที่เหลืออยู่ของปี จึงดูจำกัดอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงช่วงห่างของจุดยืนที่แต่ละฝ่ายยึดถือ

นั่นอาจทำให้เกิดโกลาหลอลหม่านกันขึ้นอีกระลอกกับการค้าระหว่างประเทศ เมื่อถึงตอนสิ้นปีในกรณีที่ความตกลงไม่อาจบรรลุถึงได้ภายใต้ระยะเวลาที่กำหนด

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เบร็กซิตครั้งนี้จะส่งผลต่ออนาคตของอียูอย่างไรใช่หรือไม่ว่ากรณีนี้จะกลายเป็น “แบบอย่าง” ทำให้พันธะระหว่างกันภายในชาติอียูที่หลงเหลือทั้งหมดคลายความแนบแน่นลง อาจมีอีกหลายประเทศตัดสินใจเดินตามรอยของยูเคเกิดขึ้นตามมา?

เมื่อเร็ว ๆ นี้สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นนำเสนอผลการสำรวจความคิดเห็นที่น่าสนใจสืบเนื่องจากประเด็นดังกล่าวนี้ออกมา ที่แสดงให้เห็นว่าตรงกันข้ามกับสมมุติฐานข้างต้น การสนับสนุนการเป็นสมาชิกอียูในชาติต่าง ๆ ในยุโรปกลับเพิ่มมากขึ้นจนไม่น่าจะนำไปสู่สภาพการเลียนแบบเบร็กซิตขึ้นแต่อย่างใด

การสำรวจความคิดเห็นดังกล่าวนี้จัดทำทุก ๆ 2 ปี โดยสำนักงานสำรวจเชิงสังคมแห่งยุโรปหรืออีเอสเอส ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่ซิตี้ ยูนิเวอร์ซิตี้ออฟลอนดอน มีศาสตราจารย์ รอรีย์ ฟิทซ์เจอรัลด์ เป็นผู้อำนวยการทำการสำรวจแทบครอบคลุมทั่วทั้งยุโรปรวม 26 ชาติ โดยที่ 4 ชาติในจำนวนนี้ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป

ใน 22 ชาติที่เป็นสมาชิกอียูอยู่แล้ว ผลการสำรวจพบว่าการสนับสนุนต่อการเป็นสมาชิกอียูนั้นเพิ่มสูงขึ้นทั้งหมด ที่น่าคิดก็คือ แม้แต่ในสหราชอาณาจักรเองเสียงสนับสนุนการเป็นสมาชิกอียูก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกันเมื่อเทียบกับระดับเมื่อปี 2018 ปีซึ่งมีการสำรวจครั้งหลังสุด

โดย 56.8% บอกว่า ถ้าให้ลงประชามติในตอนนี้พวกตนจะลงมติคงอยู่กับอียูเพียงแค่ 34.9% เท่านั้น ที่บอกว่าจะลงมติออกจากอียูอีก 8.3% ระบุว่า จะไม่ไปลงประชามติใด ๆ

ในการสำรวจเมื่อปี 2018 นั้น 49.9% เท่านั้นที่แสดงความคิดเห็นว่าต้องการคงอยู่กับอียูต่อไป

ศาสตราจารย์ฟิทซ์เจอรัลด์บอกว่า ข้อมูลที่ได้แสดงให้เห็นว่าเบร็กซิตยังคงเป็นประเด็น “แบ่งแยก” ในยูเค แต่ในส่วนอื่นของอียูเสียงสนับสนุนการคงอยู่กับอียูต่อไปไม่เพียงอยู่ในระดับสูงมากเท่านั้นยังเพิ่มขึ้นอีกด้วย

สัดส่วนสนับสนุนในชาติสมาชิกอียูในการสำรวจล่าสุดที่ว่านั้น ต่ำสุดอยู่ที่ 66% ในสาธารณรัฐเช็ก ส่วนสูงสุดอยู่ที่ 89% ซึ่งเป็นผลสำรวจในสเปน

ฟิทซ์เจอรัลด์ระบุว่า นั่นแสดงให้เห็นว่าความรู้สึกต่อต้านอียูที่พบในอังกฤษไม่ได้กระจายออกไปสู่ประเทศอื่น ๆ ที่เป็นสมาชิกอียูเลย

ถ้าเป็นเช่นนั้นทำไม บอริส จอห์นสัน ถึงได้ชัยชนะในการเลือกตั้งหมาด ๆ ที่ผ่านมาท่วมท้นด้วยแพลตฟอร์มหาเสียงง่าย ๆ เพียงแค่ “เก็ตเบร็กซิตดัน” เท่านั้น ?

จอร์จีนา ไรท์ ผู้เชี่ยวชาญกิจการอียูจากสถาบันรัฐประศาสนศาสตร์อธิบายว่า นั่นเป็นเพราะส่วนใหญ่ไม่อยาก “ติดกับ” อยู่กับความยืดเยื้อคาราคาซังและวุ่นวายที่เกิดขึ้นกับกระบวนการเบร็กซิต จนระอาไปตาม ๆ กัน และต้องการให้ยุติลงเสียที และยอมรับว่าการลงประชามติเมื่อปี 2016 เป็นกระบวนการประชาธิปไตยที่ต้องยอมรับ

ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการสนับสนุนหรือการต่อต้านอียู

นักวิชาการบางคนยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ในมุมมองของชาวยุโรปในทันทีที่ยูเคกับอียูทำความตกลงกันได้ เรื่องเบร็กซิตทั้งหมดก็เป็นอันเรียบร้อย อังกฤษและยูเคจะไม่เป็นปัญหาสำหรับอียูอีกต่อไป

ตรงกันข้ามกับในอังกฤษ นักวิชาการอย่าง ไซมอน อัชเชอร์วูด ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ เชื่อว่าภายใต้กรอบความตกลงที่รัฐบาลจอห์นสันกำหนดไว้ ความตกลงที่นุ่มนวลที่สุดที่อาจเกิดขึ้นก็ยังส่งผลกระทบมหาศาลต่อผู้คนในยูเคจนยากที่จะรับได้

เขาเชื่อว่าในทันทีที่ได้เห็น ได้ตระหนักถึงผลกระทบจากเบร็กซิตที่มีต่อประเทศนี้และต่อเศรษฐกิจของประเทศนี้ ประชาชนในยูเคก็จะตระหนักในทันทีว่า ปัญหาอียูไม่ได้จางหายไปไหน

เป็นไปได้ว่า สงครามระหว่างกลุ่มสนับสนุนกับกลุ่มต่อต้านอียูในยูเคครั้งใหม่จะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งในตอนนั้นนั่นเอง