เมื่อประชากรโลกหดตัว ศูนย์กลาง เศรษฐกิจโลกก็เปลี่ยน !

File Photo (Photo by Fred DUFOUR / AFP)
ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเชิงประชากรศาสตร์ที่สำคัญอย่างยิ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผ่านวารสารวิชาการด้านการแพทย์ชื่อดัง “เดอะ แลนเซต” ชี้ให้เห็นว่าโลกกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายด้านประชากรใหญ่หลวงอย่างยิ่งในศตวรรษใหม่

ในงานวิจัยชิ้นนี้มีประเด็นท้าทายอยู่มากมาย ซึ่งโดยหลัก ๆ แล้วชี้ให้เห็นว่า ยิ่งสังคมของเราสามารถเข้าถึงมาตรการคุมกำเนิดสมัยใหม่ได้มากขึ้น การศึกษาของเด็กหญิงและผู้หญิงดีขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ “ภาวะเจริญพันธุ์” ของโลกลดลงอย่าง “กว้างขวาง” และ “ยั่งยืน” อีกด้วย โดยผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมก็คือ ภายในปี 2064 จำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นถึงระดับสูงสุดที่ 9,700 ล้านคน หลังจากนั้นก็จะเริ่มหดตัวลง พอถึงศตวรรษใหม่ที่ปี 2100 จำนวนประชากรทั้งหมดบนโลกจะหดลงเหลือเพียง 8,800 ล้านคน

ภาวะหดตัวของประชากรเช่นนี้เกิดขึ้นใน 183 ประเทศ จากทั้งหมด 195 ประเทศ ใน 23 ประเทศ รวมทั้งไทย, ญี่ปุ่น, อิตาลี และสเปน ที่ประชากรหดตัวลงรุนแรงที่สุด พอถึงปี 2100 จำนวนประชากรในประเทศเหล่านี้จะลดลงเหลือเพียงครึ่งเดียวของจำนวนประชากรในปี 2017 อีก 34 ประเทศ รวมทั้งประเทศอย่างจีน จำนวนประชากรในปีนั้นจะลดลงมากกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ มีเพียง 3 ภูมิภาคของโลกที่มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น คือกลุ่มประเทศในแถบซับซาฮาราในแอฟริกา ที่ประชากรจะเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า ในปี 2100 เมื่อเทียบกับปี 2017 คือจากราว 1,030 ล้านคน เป็น 3,070 ล้านคน ขณะที่ภูมิภาคแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลางก็จะมีประชากรเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันแต่ไม่สูงเท่าเขตซับซาฮารา

ริชาร์ด ฮอร์ตัน บรรณาธิการแลนเซทตบอกว่า นั่นหมายความว่า อนาคตของโลกไม่ได้อยู่ในมือของมหาอำนาจแต่เดิมอีกต่อไป แต่แอฟริกาและโลกอาหรับจะเป็นผู้กำหนดอนาคตที่ว่านั้น อิทธิพลของยุโรปกับเอเชียจะลดลง และเมื่อสิ้นศตวรรษนี้ ภูมิทัศน์การเมืองโลกจะเปลี่ยนเป็นภาวะหลายขั้วอำนาจอย่างชัดเจน มหาอำนาจในยามนั้นคือ อินเดีย, ไนจีเรีย, จีน และสหรัฐอเมริกา ซึ่งฮอร์ตันชี้ว่า นั่นเป็นโลกใหม่ สัมพันธภาพแบบใหม่ ที่ทุกคนต้องเตรียมตัวให้พร้อมเสียตั้งแต่วันนี้

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงเชิงประชากรศาสตร์มีผลผูกพันถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงยิ่ง ทีมผู้ทำวิจัยเตือนเอาไว้ว่า โครงสร้างเชิงอายุของประชากรโลกจะพลิกผันอย่างรุนแรง ประเมินกันว่า ในปี 2100 นั้น ประชากรที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปจะมีมากกว่าประชากรที่อายุ 5 ขวบเศษในอัตรา 2 ต่อ 1 การเกิดที่ลดลงทำให้ประชากรวัยเด็กในปี 2100 ลดลงราว 41 เปอร์เซ็นต์ คืออยู่ที่ 401 ล้านคน เทียบกับ 681 ล้านคน ในปี 2017 ผู้สูงอายุวัยเกิน 80 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้น 6 เท่าตัว จาก 141 ล้านคนเป็น 866 ล้านคน นั่นหมายถึงจำนวนประชากรวัยทำงานจะลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ขนาดเศรษฐกิจของประเทศลดลงตามไปด้วย

เพราะเหตุนี้ทีมวิจัยจึงประเมินว่า จีนจะก้าวขึ้นมาเป็นชาติที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) สูงที่สุดในโลกแทนที่สหรัฐอเมริกาในปี 2035

โดยสหรัฐอเมริกาจะกลับเป็นที่หนึ่งในแง่จีดีพีได้อีกครั้งในปี 2098 ภายใต้ข้อแม้ว่า จะต้องรับแรงงานอพยพเข้ามารองรับเศรษฐกิจของตน บวกกับการที่ประชากรของจีนจะหดตัวลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2050 เป็นต้นไป ขณะที่อินเดียเป็นชาติเดียวในเอเชียที่ยังสามารถรักษาสัดส่วนประชากรวัยทำงานของตนเอาไว้ได้ต่อเนื่องไปจนผ่านศตวรรษใหม่ อันดับจีดีพีของอินเดียจากที่ 7 จะพุ่งขึ้นเป็นอันดับ 3 ของโลก

แต่ที่เซอร์ไพรส์ที่สุดเป็นไนจีเรีย ซึ่งเป็นชาติเดียวในจำนวน 10 ชาติที่มีประชากรสูงที่สุดของโลกที่ประชากรวัยทำงานยังคงขยายตัวต่อเนื่องหลังศตวรรษใหม่ ผลก็คือจีดีพีของไนจีเรียจะทะยานขึ้นจากอันดับ 23 ของโลกในปี 2017 เป็นอันดับ 9 ในปี 2100 ตรงกันข้ามกับชาติในยุโรปบางประเทศ แม้ว่าอังกฤษ, เยอรมนี, และฝรั่งเศส จะยังคงติดอยู่ใน 10 อันดับแรกได้ แต่ประเทศอย่างอิตาลีและสเปนอันดับจะร่วงลงไปอยู่ที่ 25 และ 28 ตามลำดับ เหตุเพราะจำนวนประชากรลดลงมากกว่า

ดังนั้นภายใต้สภาวการณ์อย่างนี้ เห็นได้ชัดเจนว่า แรงงานอพยพหรือแรงงานย้ายถิ่น มีความหมายต่อเศรษฐกิจของแต่ละประเทศมากยิ่งกว่าครั้งไหน ๆ โดยศาสตราจารย์อิบราฮิม อาบูบาการ์ จากมหาวิทยาลัยคอลเลจ ออฟ ลอนดอน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการวิจัยครั้งนี้เตือนเอาไว้ว่า แค่งานวิจัยนี้ใกล้เคียงความจริงเพียงครึ่งเดียว แรงงานอพยพก็จะกลายเป็น “ความจำเป็น” ไม่ใช่ “ทางเลือก” แล้ว ที่ทุกชาติต้องเตรียมตัวในยามนี้คือ กำหนดนโยบายให้แนวทางการเคลื่อนย้ายประชากรที่ดี เหมาะสม และเป็นระเบียบเรียบร้อย

เพราะหากปล่อยไปโดยไม่บริหารจัดการอาจลงเอยติดกับอยู่กับแรงงานนำเข้าด้อยคุณภาพกับสภาพสังคมไร้เสถียรภาพนั่นเอง